[คำที่ ๑๑๕] โยค‏

 
Sudhipong.U
วันที่  7 พ.ย. 2556
หมายเลข  32235
อ่าน  442

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ โยค

คำว่า โยค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า โย - คะ เขียนเป็นไทยได้ว่า โยคะ มีความหมายหลายอย่าง ทั้งความเพียร และ กิเลสที่ตรึงประกอบสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ในที่นี้ จะขอนำเสนอในความหมายที่เป็นกิเลสที่ตรึงประกอบสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้ดับกิเลสเหล่านี้ได้จนหมดสิ้น ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โยคสูตร ว่า

สัตว์ทั้งหลาย อันกามโยคะประกอบไว้แล้ว ซ้ำถูกภวโยคะและทิฏฐิโยคะ ประกอบเข้าอีก อวิชชารุมรัดเข้าด้วย ย่อมเวียนเกิดเวียนตายไป ส่วนสัตว์เหล่าใด รู้กามโยคะและภวโยคะ ด้วยประการทั้งปวง ตัดถอนทิฏฐิโยคะ และทำลายอวิชชาเสียได้ สัตว์เหล่านั้น ก็เป็นผู้ปลอดโปร่งจากโยคะทั้งปวง เป็นมุนีผู้ข้ามพ้นจากกิเลสเป็นเครื่องประกอบ  ดังนี้แล


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ในส่วนของกิเลสซึ่งเป็นอกุศลธรรมนั้น มีมากมาย หลายหมวดหมู่ ตามความเป็นจริงสภาพธรรม เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เป็นเครื่องเตือนให้แต่ละคนได้เข้าใจว่า มากไปด้วยกิเลสเพียงใด เพื่อจะไม่สำคัญผิดว่า ตนเองมีกิเลสน้อยหรือว่าหมดกิเลสแล้ว เพราะตราบใดก็ตามที่ยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ก็ยังไม่สามารถที่จะดับกิเลสอะไรๆ ได้เลย ปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ โยคะ ก็เป็นอกุศลธรรมหมวดหนึ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ว่า      เป็นกิเลสที่เป็นเครื่องตรึงประกอบสัตว์ไว้ในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่สัตว์โลกยังมีโยคะอยู่ ก็ไม่สามารถพ้นไปจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ได้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ซึ่งเป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก ก็เพราะเหตุว่าถูกโยคะ ประกอบไว้หรือตรึงไว้ นั่นเอง หรือจะกล่าวอย่างนี้ก็ได้ คือ ถูกโยคะตรึงไว้ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรม ตรึงไว้ไม่ให้กุศลจิตเกิด เพราะในขณะที่ถูกโยคะ ประกอบไว้หรือตรึงไว้นั้น จิตเป็นกุศล เมื่อกุศลจิตเกิด กุศลก็เกิดไม่ได้        

โยคะ มี ๔ ประการ ได้แก่ กามโยคะ (ความติดข้องยินดีพอใจในกาม คือ รูป  เสียง  กลิ่น  รส และโผฏฐัพพะ) ภวโยคะ (ความติดข้องในภพ)  ทิฏฐิโยคะ (ความเห็นผิด) และ อวิชชาโยคะ (ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ, มิจฉาทิฏฐิ  ความเห็นผิด และโมหะหรืออวิชชา ซึ่งเป็นความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

ในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ก็กำลังมีกิเลสที่เป็นโยคะตรึงประกอบไว้ คือ ความติดข้องยินดีพอใจในกาม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ  ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ไม่เคยรู้เลยว่าผลแห่งการติดข้องต้องการจะเป็นอย่างไร จะนำมาซึ่งทุกข์จากการถูกกิเลสครอบงำมากมายเพียงใด ติดข้องต้องการแล้วต้องแสวงหาให้ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ พอพลัดพรากจากไปก็เศร้าโศกเสียใจ และตราบใดที่ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ก็ยังไม่พ้นไปจากความติดข้องยินดีพอใจในภพ ในขันธ์ ในความมีความเป็น แม้จะเป็นพระอนาคามีแล้ว ก็ยังมีความยินดีพอใจในขันธ์ในภพที่เกิดอีก แสดงถึงความละเอียดของกิเลสที่จะตรึงประกอบสัตว์ไว้ ไม่ให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย และถ้าเป็นผู้ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อแห่งความเห็นผิด ก็ยังมีความสำคัญผิด เช่น เห็นผิดว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีเรา มีเขา เห็นผิดในข้อวัตรปฏิบัติ ต่างๆ เป็นต้น ขณะที่เห็นผิดประการต่างๆ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม ก็ถูกประกอบไว้ตรึงไว้ด้วยทิฏฐิโยคะ และขณะนี้ที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ก็เพราะมีความไม่รู้ ที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศล ในขณะนั้นก็มีอวิชชาโยคะประกอบไว้ ตรึงไว้ตอลดเวลาโดยไม่รู้ตัวเลยว่าถูกตรึงไว้ และจากพระพุทธพจน์ที่ได้ยกมานั้น แสดงให้เห็นว่า บุคคลผู้ที่ยังละโยคะไม่ได้ ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป จึงเป็นผู้ไม่ปลอดโปร่งหรือไม่เกษมจากโยคะ ยังไม่ใช่ผู้ที่ปลอดโปร่งจากกุศล

การที่จะปลอดโปร่งจากโยคะทั้ง ๔ ได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา ซึ่งเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมปัญญาไปตามลำดับ ฟังให้เข้าใจตัวจริงของสภาพธรรม ฟังพระธรรมเข้าใจเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็ปลอดโปร่งจากอวิชชาคือความไม่รู้ และประการที่สำคัญ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามระดับขั้นของปัญญา ด้วย ซึ่งจะทำให้ค่อยๆ ปลอดโปร่งจากกุศลไปตามลำดับ  จนกว่าจะเป็นผู้ปลอดโปร่งจากกิเลสทั้งปวง  ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดเมื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ เป็นผู้ปลอดโปร่งหรือเกษมจากโยคะอย่างแท้จริง หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่าจะดับหมดสิ้นไป.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ