[คำที่ ๑๑๖] นิวรณ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  14 พ.ย. 2556
หมายเลข  32236
อ่าน  571

ภาษาบาลี ๑ คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์  นิวรณ

คำว่า นิวรณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลี ว่า นิ -วะ –ระ- นะ เขียนเป็นไปไทยได้ว่า นิวรณ์ แปลว่า อกุศลที่กางกั้นไม่ให้ความดีเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต ไม่ให้ไปสู่กุศลธรรม มี ๕ ประการ คือ ความติดข้องยินดีพอใจในกาม   ความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ ความง่วงเหงาหาวนอน ท้อแท้ท้อถอยเซื่องซึม ความฟ้งซ่านรำคาญใจ และความลังเลสงสัยในสภาพธรรม และเมื่อนิวรณ์เกิดขึ้น กุศลเกิดไม่ได้ ปัญญาเกิดไม่ได้ ตามข้อความจาก สุมังควิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย  ปาฏิกวรรค   สัมปสาทนียสูตร  ว่า 

นิวรณ์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิด ขึ้น ย่อมไม่ให้เพื่อจะให้ปัญญาที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นได้ ทั้งไม่ยอมให้ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วเจริญได้ ฉะนั้น นิวรณ์เหล่านี้ ท่านจึงเรียกว่าเป็นเครื่องทำปัญญาให้ทรามกำลัง (บั่นทอนปัญญา)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ในส่วนของอกุศล นั้น เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ยังมีอกุศลอยู่อย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่มีพระธรรมเป็นเครื่องเตือน ก็จะไม่สามารถรู้เลยว่าขณะไหนเป็นอกุศล และมีอกุศลมากมายแค่ไหน เพราะตราบใดที่ยังไม่สามารถดับได้ จะบอกว่าตนเองมีอกุศล น้อย นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะอกุศลเกิดขึ้นเป็นไปมากทีเดียว นิวรณ์ ก็เป็นอกุศลธรรมอีกหมวดหนึ่ง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้เข้าใจถึงความเป็นธรรมที่มีจริงซึ่งเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิต ไม่ให้เป็นกุศล ไม่ให้น้อมไปสู่กุศล

นิวรณ์ เป็น สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม เป็นเครื่องกางกั้นไม่ให้ปัญญาเกิด เป็นเครื่องบั่นทอนกำลังปัญญา และกางกั้นไม่ให้กุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ปิดกั้นจิตไว้ด้วยอกุศลธรรม ไม่ให้กุศลธรรมเกิดขึ้น นิวรณ์ มี ๕ ประการ คือ

กามฉันทนิวรณ์ (ความติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ๑ พยาปาทนิวรณ์ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ พยาบาทปองร้ายผู้อื่น) ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ (ความง่วงเหงาหาวนอน ท้อแท้ท้อถอยเซื่องซึม) ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม) ๑    

แล้วจะละนิวรณ์ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตได้อย่างไร การละนิวรณ์ มีหลายระดับ คือ ละเพียงชั่วขณะ ละด้วยการข่มไว้ และ ละจนหมดสิ้นไม่เกิดอีก ดังต่อไปนี้  

การละเพียงชั่วขณะ คือ ขณะที่กุศลเกิด ไม่ว่าระดับใด อกุศลย่อมไม่เกิด นิวรณ์ไม่เกิดในขณะนั้น ก็เป็นการละนิวรณ์ชั่วขณะที่กุศลเกิดขึ้น

การละด้วยการข่มไว้ คือ ด้วยการเจริญสมถภาวนา ซึ่งก็ต้องมีปัญญา จึงจะละได้ แต่การอบรมเจริญสมถภาวนา เป็นเพียงการข่มนิวรณ์ ไว้ ในขณะที่เป็นฌานซึ่งเป็นความสงบแนบแน่นแห่งจิต เมื่อออกจากฌานแล้ว นิวรณ์ ก็เกิดขึ้นอีก จึงเป็นเพียงการข่มนิวรณ์ในขณะที่เป็นฌานเท่านั้น ยังไม่สามารถดับได้อย่างเด็ดขาด

การละจนหมดสิ้น หมายถึง ดับได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ไม่มีนิวรณ์ใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาระดับสูง คือ ระดับมรรคจิต ซึ่งเป็นผลของการอบรมเจริญปัญญาดำเนินตามหนทางที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ที่จะละนิวรณ์จนหมดสิ้น ไม่มีนิวรณ์ใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย คือ พระอรหันต์

ตามความเป็นจริงแล้ว นิวรณ์ ไม่ได้ห่างไกลจากขณะนี้เลย เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ในขณะที่ติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในขณะนั้น กามฉันทนิวรณ์ เกิดแล้ว, ขณะที่โกรธขุ่นเคืองใจ ถูกครอบงำด้วยความโกรธ ก็เป็นพยาปาทนิวรณ์ ขณะที่ง่วง ท้อแท้ท้อถอย  เป็นอกุศลธรรมที่มีกำลังอ่อน กุศลเกิดไม่ได้เลยในขณะนั้น ก็เป็นถีนมิทธนิวรณ์, ขณะที่ฟุ้งซ่าน ซึ่งก็คือ ในขณะที่เป็นอกุศลนั่นเอง ก็เป็นอุทธัจจะ เนื่องจากว่าอุทธัจจะ ซึ่งเป็นความไม่สงบแห่งจิตนั้น เกิดกับอกุศลจิตทุกขณะ ถ้าหากว่ามีความเดือดร้อนใจที่ได้กระทำอกุศลกรรมลงไป หรือเดือดร้อนใจที่ไม่ได้กระทำกุศลกรรม ก็เป็นกุกกุจจะ และถ้ามีความลังเลสงสัยในสภาพธรรม ถึงความตกลงใจไม่ได้ ก็เป็นวิจิกิจฉานิวรณ์ ธรรมเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แม้จะไม่เรียกชื่อ ความเป็นจริงของธรรมไม่เคยเปลี่ยน 

เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ขณะที่อกุศลเกิดขึ้น เป็นนิวรณ์ เพราะเป็นสภาพธรรมที่กางกั้นไม่ให้จิตเป็นกุศล เพราะขณะใดที่จิตเป็นอกุศล กุศลจิต ก็เกิดขึ้นไม่ได้  ในชีวิตประจำวันสำหรับที่ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยากที่พ้นไปจากการถูกกลุ้มรุมด้วยนิวรณ์ประการต่าง ๆ   แต่ก็ยังพอมีขณะที่สงบระงับนิวรณ์ได้บ้าง ก็ในขณะที่จิตเป็นกุศลนั่นเอง จนกว่าจะดับนิวรณ์แต่ละอย่างแต่ละประการด้วยมรรคจิต ตามลำดับดับขั้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา อันเป็นรากฐานสำคัญจะนำไปสู่การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา จนกว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นทั้งหมดนั้น ต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วเท่านั้น จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว เพราะถ้าไม่ฟัง ไม่ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเกิดได้เลย และเมื่อไม่มีปัญญา การดับกิเลส ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ