[คำที่ ๑๑๗] อสาธารณ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อสาธารณ”
คำว่า อสาธารณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - สา - ทา - ระ - นะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อสาธารณะ แปลว่า ไม่ทั่วไป, ไม่สาธารณะ ไม่ว่าจะปรากฏ ณ ที่ใด คำนี้จะมีความหมายอย่างนี้ ในที่นี้ขอนำเสนอในนัยที่มุ่งหมายถึง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ทั่วไป หรือไม่สาธารณะแก่ชนทั้งปวง เพราะเหตุว่า ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟังพระธรรมเหมือนกันหมด คนที่ได้ฟังก็มี คนที่ไม่ได้ฟังก็มี เพราะอะไร ก็เพราะสะสมมาไม่เหมือนกันนั่นเอง ผู้ที่เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรม เคยสะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว จึงเป็นเหตุปัจจัยให้ได้ฟัง ให้ได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีเป็นส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ไม่ได้ฟัง ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า
“สัตว์ที่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้ มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้ มีมากกว่าโดยแท้”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ ที่กว่าจะได้ตรัสรู้นั้นพระองค์ต้องบำเพ็ญพระบารมีสะสมคุณความดีประการต่างๆ ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ พระบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาทั้งหมดก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง พร้อมทั้งน้อมประพฤติปฏิบัติตามจนกระทั่งถึงความเป็นผู้หมดจดจากกิเลสในที่สุด จะเห็นได้ว่าเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา ทรงพร่ำสอนพุทธบริษัท บ่อยๆ เนืองๆ ตั้งแต่เริ่มประกาศพระศาสนาจนกระทั่งถึงเวลาที่พระองค์จวนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพระธรรมมีประโยชน์มาก ทำให้ผู้ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส จนกว่ากิเลสจะดับหมดสิ้นไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติขึ้นในโลก ก็เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้เป็นผู้หลุดพ้นจากกองทุกข์และกิเลสทั้งปวง ด้วยการแสดงพระธรรม ประกาศความจริง แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์เหมือนกันทั้งหมด เพราะเหตุว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจฟัง ไตร่ตรองพิจารณา ไม่ประมาทในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง สะสมปัญญาไปตามลำดับ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งการดับกิเลส ที่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ และความตาย ไม่สามารถครอบงำได้อีกต่อไป
ตามความเป็นจริงแล้ว พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น ประกอบด้วยเหตุและผล เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลส เป็นไปเพื่อละโดยตลอด บุคคลผู้ที่ไม่มีปัญญา ย่อมไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรมที่มีคุณค่ามากนี้ ถึงแม้ว่าจะมีผู้แนะนำในสิ่งที่ดีมีประโยชน์แก่เขาอย่างไรก็ตาม เขาย่อมไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น พระธรรมจึงเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วตั้งแต่ชาติปางก่อนเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา เห็นประโยชน์ของพระธรรม ได้ยินได้ฟังมาแล้วในอดีต ส่วนบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมบุญมาย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม พระธรรมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับเขา ซึ่งจะตรงกับคำที่ว่า “พระธรรม ไม่สาธารณะกับทุกคน” อย่างแท้จริง
ประการที่สำคัญที่ควรจะตระหนักอยู่เสมอ คือ เราไม่สามารถทำให้คนทุกคน หันมาเป็นผู้สนใจศึกษาพระธรรม เหมือนกันหมด หรือไม่สามารถทำให้ทุกคนดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างที่เราคิดได้ เพราะเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคลจริงๆ เปรียบเหมือนกับการที่เราไม่สามารถทำให้แผ่นดินทั้งหมดราบเรียบเหมือนกันหมดได้ เพราะบางแห่งเป็นหลุมเป็นบ่อ เป็นเนินไม่เสมอกัน เพราะฉะนั้นแล้ว กิจที่ควรทำสำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็คือจะต้องมีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป ไม่ละเลยโอกาสที่สำคัญในชีวิตที่จะทำให้ตนเองได้เข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นขณะที่ประเสริฐ และหายากเป็นอย่างยิ่ง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ