[คำที่ ๑๑๙] ปวตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ธ.ค. 2556
หมายเลข  32239
อ่าน  764

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ปวตฺติ

คำว่า ปวตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ- วัด -  ติ แปลว่า ความประพฤติเป็นไป [คนไทยจะคุ้นกับคำว่า ประวัติ]  ก็จะพอจะมีเค้าของความหมายเดิมอยู่บ้างถ้าได้เข้าใจธรรม ซึ่งหมายถึงความประพฤติเป็นไปของแต่ละคนตามการสะสม มีทั้งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นกุศลธรรม และกุศลธรรม เลย ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย  ติกนิบาต ปฐมขตสูตร แสดงถึงความประพฤติเป็นไปของคนพาล และบัณฑิต ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ว่า   

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็น สัตบุรุษ ครองตน (เป็นเหมือนต้นไม้) ถูกขุดรากเสียแล้ว ตายไปครึ่งหนึ่งแล้ว (คือตายจากความดี อยู่แต่ร่างกายอันไร้สาระ) เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ธรรม ๓ ประการ คือ อะไรบ้าง ? คือ กายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล มโนกรรมเป็นกุศล บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นบัณฑิต ฉลาด เป็นสัตบุรุษครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ตาย-ไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ไม่มีโทษ ผู้รู้ไม่ติเตียนและได้บุญมากด้วย ธรรม ๓ ประการ คือ อะไรบ้าง ? คือ กายกรรมเป็นกุศล วจีกรรมเป็นกุศล มโนกรรมเป็นกุศล


ทุกชีวิต เป็นการเกิดขึ้นของสภาพธรรม คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) ซึ่งไม่มีใครจะสามารถยับยั้งได้เลย ในชีวิตประจำวันก็จะเห็นได้ว่ากุศลธรรม เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของกุศลธรรมนั้นๆ อยู่ตลอดเวลาที่วิบากจิต หรือกุศลจิตไม่เกิดขึ้น นี้คือความจริง แสดงให้เห็นเลยว่า ปุถุชนมักจะตกไปจากกุศล จริงๆ  ขณะใดที่กุศลจิตไม่เกิด ขณะนั้นอกุศลธรรมระดับขั้นต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่, ขณะที่จิตเป็นกุศลเท่านั้น ซึ่งคั่นอกุศลธรรมในชีวิตประจำวันชั่วครั้งชั่วขณะ กล่าวคือ ขณะที่เป็นไปในทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต หรือเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเกิดน้อยมากในชีวิตประจำวัน

ความประพฤติเป็นไปของแต่ละคน หรือจะกล่าวว่า "ประพฤติตามที่เป็นไป" ในชีวิตประจำวัน นั้น แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตามการสะสมของแต่ละบุคคล เป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งไม่พ้นไปจากความเป็นพาล กับ ความเป็นบัณฑิตเลย ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

คนพาลถูกวิชชา (ความหลง  ความไม่รู้) หุ้มห่อไว้ ได้ยินแต่สัทธรรม จึงไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งที่ควรเว้นหรือสิ่งที่ควรกระทำ จึงถือเอาผิดจากความจริง เพราะขาดปัญญา จึงไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมไม่ดีตามไปด้วย เป็นผู้ตายไปจากคุณความดี เพราะไม่ได้สะสมความดีอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากไม่ได้เข้าใจพระธรรม นั่นเอง  

แต่ในทางตรงกันข้าม บุคคลผู้ที่เป็นบัณฑิตได้ฟังพระสัทธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงตรัสรู้ความจริง บัณฑิตจึงได้รับการแนะนำในสิ่งที่ควรกระทำ และสิ่งที่ควรเว้น เพราะได้ฟังพระสัทธรรม จึงมีปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน  จักทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เพราะกระทำเหตุที่ดีย่อมได้รับผลที่ดี เพราะกระทำเหตุไม่ดี ย่อมได้รับผลที่ไม่ดี  เหตุย่อมสมควรแก่ผล เมื่อรู้อย่างนี้จึงไม่กล้าทำในสิ่งที่ไม่ดี ไม่เพิ่มโทษให้กับตนเอง มีแต่จะเพิ่มพูนสิ่งที่ดีให้มีมากขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น พร้อมทั้งมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาต่อไป กล่าวได้ว่า ทั้งชีวิตทีเดียวที่จะน้อมนำประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ เพื่อการขัดเกลาและดับกิเลส ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ชีวิตย่อมไม่ว่างเปล่าจากประโยชน์ ย่อมเป็นผู้มีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐ เพราะในชาตินี้ได้สะสมความดีและอบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ