[คำที่ ๑๒o] สติ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ธ.ค. 2556
หมายเลข  32240
อ่าน  476

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สติ

 คำว่า สติ เป็นคำบาลีภาษาลีโดยตรง หมายถึงความระลึกเป็นไปในกุศล ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเลย สติเป็นสภาพธรรมเครื่องรักษา คือ รักษาให้เป็นไปในกุศลธรรม พร้อมทั้งเป็นเครื่องกั้นกระแสอกุศลธรรมทั้งหลายในขณะที่สติเกิดไม่ว่าจะอยู่ ที่ไหน เวลาใดก็ตาม สติ จึงเป็นสภาพธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง ตามข้อความจาก ปปัญจสูทนี  อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สติปัฏฐานสูตร ว่า

 สตินั้น จำต้องปรารถนาในที่ทั้งปวง เหมือนการปรุงรสด้วยเกลือ จำปรารถนาในการปรุงอาหารทุกอย่าง และเหมือนอำมาตย์ผู้ชำนาญในราชกิจทุกอย่าง จำปรารถนาในราชกิจทุกอย่าง ฉะนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สติจำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุไร?  เพราะจิตมีสติเป็นที่อาศัย และสติมีการอารักขา (รักษา) เป็นที่ปรากฏ เว้นจากสติเสียแล้ว จะประคองและข่มจิตไม่ได้เลย


สติเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกได้ เป็นไปในกุศลทั้งในขั้นของทาน ศีล และภาวนา ซึ่งเป็นอบรมเจริญความสงบของจิต และการอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบังคับหรือทำให้สติเกิดได้  สติเป็นสภาพธรรมที่จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะเหตุว่าชีวิตในวันหนึ่งๆ ที่เต็มไปด้วยอวิชชา ความหลง  ความไม่รู้ ตลอดจนถึงอกุศลธรรมประการต่างๆ ขณะนั้นหลงลืมสติ ไม่เป็นกุศล ไม่สามารถที่จะพิจารณาสภาพธรรมในชีวิตประจำวันได้ตามความเป็นจริง จนกว่าสติจะเกิดเมื่อใด มีการระลึกได้แม้ในเหตุในผล ในความถูกต้อง ในความเหมาะควรในชีวิตประจำวัน ขณะนั้นก็เป็นการเกิดขึ้นของสติ แม้แต่ในเรื่องของการเจริญเจริญกุศลประการต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ ก็เป็นเพราะสติเกิดขึ้นนั่นเอง การที่แต่ละบุคคลจะเจริญขึ้นในกุศลธรรม ได้นั้น ก็เพราะสติเกิดขึ้นเป็นไป ถ้าสติไม่เกิดจะเป็นอย่างนี้ไม่ได้เลย

นี้คือชีวิตประจำวันที่จะสังเกตได้ว่า สติจะเกิดเพิ่มขึ้น คือ เมื่อเห็นคุณ เห็นประโยชน์ของสติทุกขั้นในชีวิตประจำวัน เช่นในเรื่องของความซื่อสัตย์ ความเป็นผู้ตรง ความจริงใจ คือ ไม่เข้าข้างตัวเอง แม้แต่อกุศลธรรมของตนเอง ก็ต้องเห็นว่าเป็นอกุศลธรรม เพื่อที่จะได้ละคลาย ขัดเกลาให้เบาบางลง 

นอกจากนั้น ความดีประการต่างๆ  เช่น  ความกตัญญู ความนอบน้อม ความรู้การควรไม่ควร ทางกาย ทางวาจา หรือในขณะที่เกิดความไม่โกรธ การให้อภัย ความมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น ความดีทั้งหมดเหล่านี้ ก็เป็นการแสดงถึงลักษณะของสติที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งแม้ว่าจะไม่เห็นลักษณะของศรัทธาที่เกิดร่วมกับสติในขณะที่กุศลจิตเกิด แต่ในขณะที่เกิดการระลึกเป็นไปในเรื่องการละทุจริต และในเรื่องของการเจริญกุศลประการต่างๆ ขณะนั้นก็จะเห็นลักษณะของสติได้

ที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ สติที่ใช้กันในภาษาไทย ก็เข้าใจกันว่า ทำอะไรก็รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เดินก็รู้ว่าเดินอยู่ ซื้อของก็ให้มีสติ  เดินข้ามถนนก็ให้มีสติ น้ำท่วมก็ให้มีสติ อะไรจะเกิดขึ้นก็ให้มีสติ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมจะเข้าใจว่า สติคือรู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ความหมายของสติอย่างนี้ไม่ตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะขณะใดที่เป็นอกุศล ไม่ว่าจะทำอะไร ที่ไหน ก็ตาม   จะไม่ใช่สติเลย ไม่มีสติเกิดในขณะที่เป็นอกุศล ตามความเป็นจริงแล้ว สติที่ถูกต้องตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตามความเป็นจริงของธรรม คือ สติ เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตที่ดีงามเท่านั้น ไม่เกิดกับอกุศลจิตเลย ดังนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่มีสติ แต่ขณะใดที่เป็นกุศล ไม่ว่าในระดับใด ขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วย โดยที่สติทำหน้าที่ระลึกและกั้นกระแสของอกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้นในขณะที่สติเกิด

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่สุขุมลึกซึ้ง เมื่อไม่ขาดการฟัง ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ แม้เพียงการฟัง ก็ยังจะต้องประกอบด้วยสติ หรือฟังด้วยสติ พิจารณาจริงๆ ในเหตุในผลของธรรม จึงจะได้รับประโยชน์จากพระธรรมและกุศลทั้งหลายก็จะเจริญยิ่งขึ้นด้วย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ