[คำที่ ๑๒๒] จริยา‏

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ธ.ค. 2556
หมายเลข  32242
อ่าน  1,540

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ จริยา

คำว่า จริยา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า จะ - ริ - ยา แปลว่า ความประพฤติ มุ่งหมายถึงทั้งความประพฤติไม่ดี ประพฤติไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง เป็นด้วยอำนาจของอกุศลธรรม เรียกว่า อธรรมจริยา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นความประพฤติที่ดีงาม ถูกต้อง เป็นกุศล ก็เรียกว่า ธรรมจริยา ในวันนี้จะขอนำเสนอ ความประพฤติที่ถูกต้อง เป็นธรรม ตามความประพฤติของพระโพธิสัตว์ อันเป็นจริยา ความประพฤติของคนดี ควรอย่างยิ่งที่จะได้น้อมประพฤติตาม ดังข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททก-นิกาย จริยาปิฎก ว่า

เมื่อพูด ก็พูดคำพอประมาณ เป็นคำจริง มีประโยชน์ น่ารัก และกล่าวธรรมตามกาละ ไม่โลภ ไม่พยาบาท ไม่เห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง, ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน มีศรัทธามั่นคงในการปฏิบัติชอบ มีความเมตตามั่นคงในที่ทั้งปวง

พึงปรารภความเพียรในประโยชน์ของสัตว์นั้นๆ, พึงอดกลั้นสิ่งทั้งปวง มีสิ่งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา เป็นต้น, ไม่พึงพูดผิดจากความเป็นจริง, พึงมีเมตตาและกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลายโดยไม่เจาะจง , อนึ่ง พึงอนุโมทนาบุญของสัตว์ทั้งหลาย


 เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ได้ฟังพระธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของกุศลประการต่างๆ มีโลภะ  โทสะ โมหะ เป็นต้น แล้ว ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า  ไม่พ้นไปเลยจากกุศลธรรมนั้นๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอกุศลประเภทใดๆ  ก็ตาม ล้วนมีด้วยกันทั้งนั้น เพราะยังดับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะเห็นชัดว่า กำลังก้าวไปสู่อะไร? ไปสู่เหวที่จะตกลงไปลึกๆ? หรือว่ากำลังค่อยๆ ขยับออกให้พ้นจากทางนั้น แต่ว่าวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ก้าวไปสู่ทางที่จะทำให้มัวเมามากกว่าการที่จะก้าวไปสู่ทางที่จะสร่างจากความเมา ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย ทุกวันจะต้องถูกครอบงำด้วยความมัวเมาไม่มีวันสร่าง แต่เมื่อใดที่มีความเข้าใจพระธรรม และพิจารณารู้ความคิดของตนเอง ก็จะเห็นได้ว่า  ทางที่ควรจะก้าวไปนั้น ควรจะเป็นไปในทางกุศล ซึ่งถ้าจะสังเกตจากชีวิตของตนเองโดยละเอียดขึ้นก็จะรู้ได้ ว่า การกระทำทางกายในวันหนึ่ง ๆ หรือทางวาจา ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่ถึงกับเป็นภัยร้ายแรง แต่ในขณะใดที่สติปัญญาเกิดจะรู้ได้ว่าบางขณะ แม้แต่คำพูดนั้นก็พูดไปตามความคิดที่กำลังโกรธ คือ พูดเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเรากำลังโกรธ ซึ่งย่อมมีอย่างแน่นอนที่เป็นอย่างนี้ในเวลาที่โกรธ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น วาจาเป็นไปตามความคิด แม้ว่าจะไม่ใช้คำหยาบคาย แต่ก็ยังเป็นคำพูดที่ทำให้คนฟังรู้ว่าเรากำลังโกรธ       

 

วันหนึ่งๆ คือ ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะสะสมกุศลมาสักเท่าไร แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายกุศลนั้นๆ ได้ แต่บุคคลผู้มีการอบรมเจริญปัญญา ก็จะสามารถรู้ตามความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้มีการขัดเกลาละคลายอกุศล ได้, เป็นความจริงที่ว่าทุกคนก็โกรธ มีความขุ่นเคืองใจเป็นธรรมดา แต่ว่าโกรธแล้ว จะระลึกได้ในขณะนั้นหรือไม่ว่า ขณะนั้นได้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา  ซึ่งเป็นไปตามความคิดหรือความโกรธในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น ผลจากการฟังพระธรรมแล้วเข้าใจพระธรรม ก็เป็นการที่จะรู้ว่าความคิดของตนเอง ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากกุศล เป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่? คือ คิดที่จะละคลายกุศลหรือยัง? เช่นคิดที่จะไม่ผูกโกรธ ซึ่งเป็นคำเตือนที่ควรเตือนบ่อยๆ เพราะว่าความโกรธนี้ทุกคนมี    เมื่อมีแล้วบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน แต่พอเข้าใจพระธรรมขึ้นมาบ้าง แต่ก่อนนี้อาจจะโกรธหลายวัน ก็อาจจะลดลงมาบ้าง นี้คือผลจากการได้เข้าใจพระธรรม แล้วก็พิจารณาพระธรรมมีการคิดที่จะให้อภัย และมีการที่จะคิดถึงคนอื่นด้วยความเมตตา

ถ้าศึกษาพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา จะเห็นถึงจริยา ซึ่งเป็นความประพฤติเป็นไปของพระโพธิสัตว์ จริยาดังกล่าวนั้น เป็นความประพฤติที่ดีงาม มีการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในบุคคลทั้งที่เป็นมิตรและที่เป็นศัตรู  มีความอดทน มีเมตตา ต่อผู้อื่น คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น เป็นต้น เพราะฉะนั้นจริยา คือ ความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เกิดจากความคิดอย่างละเอียดมาก เห็นประโยชน์ของทุกอย่างที่เป็นกุศล มีสติปัญญาที่จะพิจารณาการกระทำทางกาย ทางวาจาหรือแม้แต่ความคิดในขณะนั้น แล้วก็สามารถที่จะมีความมั่นคงที่จะประพฤติปฏิบัติตามได้ในทางที่ถูกที่ควรแยบคายด้วยกุศลธรรม ซึ่งควรอย่างยิ่งที่ทุกคนจะน้อมประพฤติปฏิบัติตามจริยาของพระโพธิสัตว์ อันได้แก่ ความดีทุกๆ ประการ นั่นเอง อันเป็นการประพฤติที่ถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ใช่การประพฤติที่ไม่เป็นธรรม จะเห็นได้ว่า ชีวิตไม่ได้จบลงเพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิดต่อไป นำทรัพย์สมบัติใดๆ ติดตามไปไม่ได้ แต่กุศลธรรมที่สะสมไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ไม่นำทุกข์โทษภัยใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย

ดังนั้น การฟังพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนใด สั้นหรือยาว ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ อนุเคราะห์ให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาความไม่รู้และความเห็นผิด ตลอดจนถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ