[คำที่ ๑๒๔] โสตถิ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  9 ม.ค. 2557
หมายเลข  32244
อ่าน  578

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “โสตฺถิ”

 คำว่า  โสตฺถิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  โสด - ถิ] คำแปลส่วนใหญ่ คือ แปลว่า ความสวัสดี, ความปลอดภัย และอีกความหมายหนึ่งที่น่าพิจารณาตามคำภาษาบาลี คือความมีสิ่งที่ดี, สำหรับ ความสวัสดี ความปลอดภัย นั้นมุ่งหมายถึงตั้งแต่พื้นๆ เช่น เดินทางไปในที่ต่างๆ ถึงที่หมายโดยสวัสดี (โดยสวัสดิภาพ) โดยปลอดภัย จนกระทั่งถึงความหมายในทางที่เป็นกุศลในระดับต่างๆ จนถึงกุศลที่เป็นโลกุตตระ ซึ่งเป็นความมีในสิ่งที่ดี ที่จะนำมาซึ่งความสวัสดี นำมาซึ่งความปลอดภัยจากอกุศล จากทุกข์ทั้งปวงได้อย่างแท้จริง และการที่จะไปถึงตรงนั้นได้ ก็ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ดังข้อความบางตอนจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ธัมมิกเถรคาถา ว่า

“พระสาวกทั้งหลาย ของพระตถาคตผู้ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ ตั้งอยู่แล้วในธรรม นับถือธรรมว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด ย่อมนำตนให้พ้นจากทุกข์ได้”


ไม่ว่าจะเกิดเป็นใคร ล้วนมีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น กล่าวคือ ไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้) ที่มีการเกิดในภพต่างๆ อยู่ร่ำไปนั้น ก็เพราะว่ายังดับกิเลสใดๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา และ ตัณหา เมื่อมีการเกิดขึ้นในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ชีวิตก็ต้องดำเนินไป มีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย และแต่ละคนก็มีพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามการสะสม ไม่เหมือนกันเลย ถึงแม้ว่าจะเกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ก็ต่างกันโดยการได้รับผลของกรรมที่มาจากเหตุที่ได้กระทำแล้วในอดีต และต่างกันโดยการสะสมเหตุในปัจจุบันอีกด้วย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น, โดยปกติของผู้ที่มีกิเลสอยู่นั้น อกุศลย่อมเกิดขึ้นเป็นไปมากกว่ากุศล แต่อกุศลที่ว่านี้ตราบใดที่ยังไม่ได้มีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็ยังไม่เป็นเหตุให้ได้รับผลที่เป็นอกุศลวิบาก แต่ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิตไม่หายไปไหน เมื่อสะสมมากขึ้นมีกำลังมากขึ้นก็ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าล่วงเป็นทุจริตกรรมเมื่อใดก็ย่อมจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่ไม่ดีในอนาคตข้างหน้าได้ นำมาซึ่งความไม่สวัสดีหรือไม่ปลอดภัยแก่ตนเองโดยส่วนเดียว ทั้งหมดนั้นเป็นผลมาจากการที่ยังมีกิเลสอยู่นั่นเอง   

ที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ตั้งแต่เช้ามา คิดที่ปลอดจากภัยคืออกุศลหรือไม่ สำหรับคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ย่อมไม่คิดที่จะฟังพระธรรมเพื่อจะขัดเกลากิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตและทำความดีให้มากขึ้น จนสามารถพ้นจากภัยคืออกุศลทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรมเหล่านั้น ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ในโลกของความมืดสนิท ซึ่งไม่มีแสงสว่างเลย เพียงแค่ทางตา เห็น ทางหู ได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่หลังจากนั้นแล้วก็เต็มไปด้วยอกุศลประการต่างๆ มากมาย แต่ว่าผู้ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็เริ่มรู้ถึงภัยใหญ่ คือ อกุศลทั้งหลาย ตั้งแต่เช้ามามากมายเพียงใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แล้วจะเป็นผู้ปลอดภัยหรือมีความสวัสดีจริงๆ ได้อย่างไร

ทางที่จะทำให้ปลอดภัยถึงความสวัสดีจริงๆ ก็มีทางเดียวเท่านั้น คือ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจก็เป็นกุศลแล้ว ปลอดจากภัยคือความไม่รู้ในขณะนั้น แล้วก็ยังจะนำมาซึ่งกุศลอื่นๆ ซึ่งเกิดเพราะความเห็นถูก ความเข้าใจถูก, ถ้าคิดถึงภัยของสังสารวัฏฏ์   เหมือนคนที่จมอยู่ในน้ำ ล้อมรอบด้วยน้ำโดยตลอด คือ อกุศลทั้งหลาย และทางที่พ้นจากน้ำที่เป็นอกุศลที่จะขึ้นจากน้ำได้มีไหม และจะต้องอบรมเจริญอย่างไร ด้วยความเพียร ด้วยความอดทนอย่างไร เพราะฉะนั้นแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากการดำเนินตามหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบและทรงแสดงแก่สัตว์โลก นั่นก็คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา มีความเพียร มีความอดทนและจริงใจ ที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป

บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ไม่ใช่ฟังเพื่อวันนี้พรุ่งนี้จะเป็นพระอริยบุคคลหรือจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม แต่ฟังด้วยการเป็นผู้ตรง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งต้องอาศัยการฟังอีก ฟังบ่อยๆ เนืองๆ โดยที่ไม่ต้องหวังว่า วันไหน เดือนไหน ปีไหนปัญญาจึงจะถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อม แต่เป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไป ใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้

เพราะฉะนั้นแล้ว การที่จะเป็นผู้ถึงความสวัสดีถึงความปลอดภัยจากอกุศล ก็ต้องเริ่มที่มีสิ่งที่ดี คือ การสะสมคุณความดีประการต่างๆ พร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตในแต่ละชาติที่ได้เกิดมา สำคัญอยู่ที่การมีโอกาสได้สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะมีสิ่งที่ดีเหล่านี้ จึงจะเป็นเหตุนำไปสู่ความสวัสดีหรือปลอดจากภัยคืออกุศลทั้งหลายซึ่งเป็นภัยภายในได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ