[คำที่ ๑๒๘] ฐิติ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.พ. 2557
หมายเลข  32248
อ่าน  862

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ฐิติ

คำว่า ฐิติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ถิ - ติ] แปลว่า ความตั้งมั่น ความมั่นคง ความดำรงมั่น ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายที่เป็นความตั้งมั่นหรือความมั่นคงด้วยคุณความดี ทำให้จิตไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส ดังข้อความที่พระอรหันต์ท่านหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้จาก พระสุตตันตปิฎก  อังคุตตรนิกาย  ฉักกนิบาต  โสณสูตร ว่า

ภูเขาศิลาเป็นแท่งทึบ ย่อมไม่หวั่นไหวด้วยลม ฉันใด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์ทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) และอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) ย่อมยังจิตอันตั้งมั่น หลุดพ้นวิเศษแล้ว ของภิกษุผู้คงที่ ให้หวั่นไหว ไม่ได้ ฉันนั้น     


สภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีจริง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สภาพธรรมที่กระทบสัมผัสทางกาย) ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ในพระไตรปิฎกแสดงว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นโลกามิส (เหยื่อล่อประจำโลก) ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมเหล่านี้ได้เลย ยังต้องประสบกับสภาพธรรมเหล่านี้อยู่เสมอ เพราะในชีวิตประจำวัน ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย แต่ถ้าเกิดความยินดี พอใจ ติดข้อง หรือไม่พอใจ ไม่ชอบใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะใด ขณะนั้นเป็นผู้ถูกกิเลสทั้งหลายครอบงำแล้ว ยิ่งถ้ามีกำลังมากก็อาจจะล่วงเป็นทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้, ที่ติดข้อง ยินดีพอใจ หรือแม้กระทั่งไม่พอใจ นั้น ไม่ใช่ความผิดของรูป เสียง เป็นต้น แต่เป็นเพราะได้สะสมกิเลสประเภทนั้นๆ มาแล้วจึงเป็นอย่างนั้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยกิเลสก็เกิดขึ้น ส่วนบุคคลผู้ที่ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาด ถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว กิเลสย่อมไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ว่าจะกระทบกับอารมณ์ประเภทใดๆ กล่าวคือจะเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา หรือไม่น่าปรารถนา ก็ตาม ไม่มีการหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสโดยประการทั้งปวง ดังนั้น พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ผู้มั่นคง เป็นผู้คงที่ คือ ไม่หวั่นไหวด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้ทั้งหมดแล้ว         

แต่บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ย่อมมีความหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นธรรมดา จะห้ามไม่ให้กิเลสเกิดก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น กิเลสที่มีอยู่เป็นปกติในชีวิตประจำวันนี้ จะค่อยๆ  ลดน้อยลงไปได้ ก็เพราะมีปัญญา ดังนั้น ประการที่สำคัญที่ผู้ศึกษาพระธรรมควรพิจารณาอยู่เสมอ คือ เนื่องจากยังมีกิเลสอยู่นี้เอง จึงจำเป็นต้องศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ต่อไป เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง อันจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน จนกว่าจะเป็นผู้หมดจดจากกิเลสได้ในที่สุด หนทางแห่งความบริสุทธิ์แห่งจิต ที่เป็นไปเพื่อการดับกิเลส ที่จะทำให้มีความมั่นคง ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส มีอยู่ทางเดียวเท่านั้นจริงๆ คือ อบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  นั่นเอง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ