[คำที่ ๑๒๙] ทุกฺข‏

 
Sudhipong.U
วันที่  13 ก.พ. 2557
หมายเลข  32249
อ่าน  716

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  ทุกฺข

คำว่า ทุกฺข เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ทุก - ขะ เขียนเป็นไทยได้ว่า ทุกข์ แปลตามศัพท์ได้ว่า สภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ โดยความหมายแล้ว คือ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งอยู่ไม่ได้ เป็นธรรมที่เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ ปราศจากความเที่ยง ปราศจากความงาม และปราศจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ซึ่งไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้เลยที่เป็นทุกข์ เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับอยู่ตลอด มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป สำหรับผู้ยังไม่ประจักษ์แจ้งความจริง ก็ยังไม่เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา ก็ย่อมเห็นทุกข์ตามความเป็นจริง ตามข้อความที่พระวชิราภิกษุณี ซึ่งเป็นพระอรหันต์ท่านหนึ่งในพระพุทธศาสนาได้กล่าวไว้ จาก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วชิราสูตร ว่า

“ความจริง ทุกข์เท่านั้น ย่อมเกิด ทุกข์เท่านั้นย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรดับ”.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา นั้น แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง จะเห็นได้ว่า พระอริยสาวกผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ประจักษ์แจ้งสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ก็มีการกล่าวตามความเป็นจริงอย่างที่พระองค์ทรงแสดงเพื่อประโยชน์แก่ชนรุ่นหลัง เพราะธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่น และไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ได้เลย 

เมื่อกล่าวถึงทุกข์ แล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไปทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์  เวทนา-ขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) หรือ ที่จำแนกเป็นปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต (วิญญาณขันธ์) เจตสิก (เวทนาขันธ์  สัญญาขันธ์  และสังขารขันธ์) รูป (รูปทั้งหมด ๒๘ รูป) เท่านั้น ที่เป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน    

ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น คือ ความจริงที่เป็นสภาพธรรมที่เป็นขันธ์ ๕ ที่เป็นจิต เจตสิก และรูป เท่านั้นที่เกิดขึ้น และไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ ทุกข์เท่านั้น ที่ตั้งอยู่ คือ เมื่อสภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วยังไม่ได้ดับก็ตั้งอยู่ เพียงชั่วขณะสั้นๆ และทุกข์เท่านั้นย่อมดับไป คือ สภาพธรรมนั้น เมื่อเกิดขึ้น ก็ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา สภาพธรรมที่เป็นทุกข์เพราะเกิดขึ้นและดับไป เท่านั้น ที่ดับไป   ไม่มีอย่างอื่นอีก ที่ดับไป

ถ้าจะมีคำถามว่า มีแต่ทุกข์เท่านั้นหรือ แล้วสุข มีหรือไม่? ก็สามารถพิจารณาได้ว่า ตามความเป็นจริงแล้ว สุขในที่นี้ มุ่งหมายถึง สุขกาย (สุขเวทนา ที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณกุศลวิบาก) และ  สุขใจ (โสมนัสเวทนา) ซึ่งเมื่อเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้นว่า สภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ล้วนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เพราะทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วต้องดับไป ก็จะทำให้เข้าใจว่า แม้สุขเวทนา กับ โสมนัสเวทนา ที่เรียกว่า เป็นสุขนั้น  ก็ไม่เที่ยง จึงเป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาด้วย ดังนั้น สุขมีจริง เป็นธรรมประเภทหนึ่ง คือ เวทนาเจตสิก แต่สุขก็ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไป    จึงเป็นทุกข์ เพราะเกิดดับ แต่ถ้าเป็นความสุขอย่างยิ่งแล้ว เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ ได้แก่ พระนิพพานซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอีกประการหนึ่ง แต่เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสังสารวัฏฏ์อย่างสิ้นเชิง    

 พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก อย่างแท้จริง จากที่ไม่รู้มาก่อน ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะสิ่งที่จะเข้าใจนั้น มีจริงในขณะนี้ มีจริงทุกๆ ขณะของชีวิต และสามารถเข้าใจจนถึงที่สุด คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ