[คำที่ ๑๓o] โกธ

 
Sudhipong.U
วันที่  20 ก.พ. 2557
หมายเลข  32250
อ่าน  1,193

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ โกธน

 คำว่า “โกธ” เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า โก - ทะ แปลว่า ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล และมีหลายระดับ ตั้งแต่ขั้นเพียงเล็กน้อย จนถึงมีกำลังกล้าสามารถประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่นได้ แม้แต่ผู้มีคุณ ผู้ถูกความโกรธครอบงำยังประทุษร้ายได้ ด้วยกำลังของความโกรธ ซึ่งจะประมาทความโกรธ ไม่ได้เลยทีเดียว พระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องเตือนให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูก และเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลตามความเป็นจริง ดังเช่นข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต โกธนาสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของความโกรธไว้ว่า

“คนผู้โกรธ ย่อมก่อกรรมที่ทำได้ยาก เหมือนทำได้ง่ายภายหลังเมื่อหายโกรธแล้ว เขาย่อมเดือดร้อน เหมือนถูกไฟไหม้, ในกาลใด ความโกรธเกิดขึ้น คนย่อมโกรธในกาลนั้น คนนั้นไม่มีหิริ (ความละอายต่อบาป) ไม่มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อบาป) และไม่มีความเคารพ, คนโกรธ  ฆ่าบิดาของตนก็ได้ ฆ่ามารดาของตนก็ได้ ฆ่าพระขีณาสพ (พระอรหันต์)ก็ได้ ฆ่าปุถุชนก็ได้ลูกที่มารดาเลี้ยงไว้จนได้ลืมตาดูโลกนี้ ลูกเช่นนั้น มีกิเลสหยาบช้าโกรธขึ้นมา ย่อมฆ่าแม้มารดานั้นผู้ให้ชีวิตความเป็นอยู่ ก็ได้”


สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรม แม้แต่ในเรื่องของความโกรธ ก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ลักษณะของความโกรธ ก็คือ ขุ่นเคือง ดุร้าย กระสับกระส่าย ไม่สงบ เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่สบายใจเมื่อนั้น เนื่องจากเวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดร่วมกับความโกรธ มีเพียงหนึ่งเดียว คือ โทมนัสเวทนา เท่านั้น   

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล ล้วนมีกุศลมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งความติดข้องยินดีพอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความริษยา เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับที่จะต้องล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากอย่างยิ่ง การที่บุคคลมีความประพฤติไม่ดี สร้างความเดือดร้อนให้เกิดแก่ผู้อื่นนั้น แท้ที่จริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล  ไม่มีตัวตนเลย แต่เป็นเพราะกิเลสที่มีกำลังเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เท่านั้น จึงเรียกว่าเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติไม่ดี เมื่อพบเห็นหรือได้ทราบถึงความเป็นไปของบุคคลผู้ประพฤติไม่ดีเช่นนี้ จึงไม่ควรที่จะเพิ่มกิเลสให้กับตนเองด้วยการไปโกรธหรือผูกโกรธเขา เพราะขณะที่เราโกรธเขา  ก็เป็นกุศลของเราเอง และที่สำคัญ ไม่ควรมองข้าม คือ เคยโกรธใคร เคยเกลียดใคร คนนั้นไม่ติดตามเราไปในภพหน้า แต่ความโกรธของเราติดตามไป ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคล ผู้ควรโกรธ ไม่มี จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแม้แต่บทเดียวที่สอนให้โกรธ สอนให้โกรธตอบ หรือสอนให้เป็นอกุศลแม้จะเล็กน้อย ไม่มีเลย มีแต่คำสอนที่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมประการต่างๆ ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นความไม่ดีทั้งหลาย จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น       

และประการที่สำคัญ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ผู้มีปัญญาเท่านั้น ย่อมเป็นผู้อดทนต่อความเสียหายที่ผู้อื่นกระทำกับตนได้ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใด น้อยหรือมากเพียงใดก็ตาม แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมไม่อดทนต่อความเสียหายที่ผู้อื่นกระทำให้กับตน แต่จะโกรธตอบ ทำร้ายตอบด้วยวิธีการต่างๆ, ความเสียหายที่ผู้อื่นกระทำกับผู้มีปัญญา ย่อมทำให้ท่านเป็นผู้มีความอดทนมากขึ้น แต่คนที่ไม่มีปัญญา เมื่อผู้อื่นทำความเสียหายให้ ย่อมเพิ่มความโกรธมากขึ้น สะสมอกุศลเพิ่มขึ้นซึ่งไม่เป็นประโยชน์เลยแม้แต่น้อย นี่ก็เป็นความต่างกันที่เห็นได้ชัดระหว่างผู้ที่มีปัญญา กับผู้ที่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นสภาพธรรมที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ประเสริฐกว่าทรัพย์ภายนอกอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะทรัพย์ภายนอก เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง บางครั้งบางคราวก็ทำให้เกิดทุกข์ เดือดร้อน นำมาซึ่งภัยอันตรายมากมาย แต่ปัญญา นำมาซึ่งคุณประโยชน์แก่ชีวิตอย่างเดียว ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ มาให้เลย แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องมีเหตุที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงควรฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ซึ่งจะเป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นแห่งปัญญาอย่างแท้จริง และกุศลธรรมประการอื่นๆ ก็จะเจริญขึ้นคล้อยตามปัญญาที่เจริญขึ้นด้วย ขณะที่กุศลเกิดขึ้น  ก็เป็นการตัดโอกาสของอกุศลที่จะเกิดขึ้น ความโกรธ ตลอดจนถึงอกุศลประการอื่นๆ ก็เกิดไม่ได้ ในขณะที่กุศลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ก็ควรที่จะเป็นไปเพื่อการอบรมเจริญปัญญา พร้อมกับสะสมความดีประการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน.

    


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ