[คำที่ ๑๓๓] อหิริก
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อหิริก”
คำว่า อหิริก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - หิ - ริ - กะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อหิริกะ แปลว่า ความไม่ละอาย เป็นสภาพธรรมที่มีจริงประการหนึ่ง ที่เป็นอกุศลเจตสิก อหิริกะเป็นสภาพธรรมที่ไม่ละอายต่อบาปอกุศล เป็นอกุศลเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท, ความเป็นจริงของอหิริกะ ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้
อหิริกะ นั้น มีการไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะมีการกระทำบาป เป็นกิจ(หน้าที่) มีความไม่เกลียดต่อบาปธรรม เป็นอาการปรากฏ ไม่มีความเคารพตนเป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ตามความเป็นจริงแล้ว ชีวิตประจำวันอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมาก เกิดมากกว่ากุศลจิตอย่างเทียบกันไม่ได้ เพราะสะสมอกุศลมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นเป็นไป และถ้ายังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นบาปอกุศล จะละอายได้ไหม ก็ไม่สามารถที่จะละอายได้ กล่าวได้ว่า ที่ไม่ละอายเพราะไม่รู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นกุศลและสภาพธรรมใดเป็นอกุศล เพราะพระธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด
สำหรับลักษณะของ อหิริกะ คือ มีการไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ เวลาโลภะเกิด ไม่เคยละอายเลยที่จะมีโลภะ แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงว่า โลภะ เป็นอกุศลธรรม เป็นธรรมที่ไม่สะอาด แต่ทุกคนก็พอใจที่จะมีโลภะต่อไป เพราะไม่ละอาย หรือไม่เกลียดอกุศลธรรม และทำอย่างไรถึงจะเห็นได้และพอที่จะละอายได้ หรือว่ายังคงจะไม่ละอายไปเรื่อยๆ ไม่ว่าโลภะจะเกิดทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจมากมายสักเท่าเท่าใด ขณะใดที่อกุศลเกิด ขณะนั้นแสดงว่าไม่ละอายแล้วจึงเป็นอกุศล ขณะใดก็ตามที่อกุศลจิตระดับใดก็ตามเกิดขึ้น ให้ทราบว่าในขณะนั้นมีความไม่ละอายในอกุศลขั้นนั้นๆ อกุศลขั้นนั้น จึงเกิดได้ เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ต่อเมื่อใดอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะเห็นอกุศลเป็นอกุศลที่น่ารังเกียจและน่าละอาย เมื่อนั้น จึงจะค่อยๆ ละคลายได้ด้วยความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น
ทุกคนมีโลภะ แต่ว่าถึงขั้นที่ล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ หรือไม่ นี่ก็แสดงระดับขั้นที่ต่างกัน ไม่ละอายต่อโลภะขั้นที่ยังไม่ได้ทำทุจริตกรรม แต่ถ้ามีทุจริตกรรม เกิดขึ้นขณะใด ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าขณะนั้นไม่มีความละอายในทุจริตกรรมขั้นนั้นแล้ว ทุจริตกรรมขั้นนั้นจึงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อหิริกะ จึงมีการไม่เกลียดกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ หรือมีความไม่ละอายกายทุจริต เป็นต้น เป็นลักษณะ มีการกระทำบาป เป็นกิจ ที่มีการกระทำบาป ก็เพราะมีความไม่ละอาย เพราะถ้าละอายแล้ว จะไม่ทำบาป และมีความไม่เกลียดต่อบาปธรรม เป็นอาการปรากฏ นี้คือ ความเป็นจริงของ อหิริกะ
จะเห็นได้ว่า การกระทำของแต่ละบุคคล ทางกาย ทางวาจา แม้ทางใจ ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงอหิริกะ ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ละอายต่อบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงในขณะนั้นๆ ไม่หลอกตัวเอง การศึกษาพระธรรมจะทำให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน บางครั้งกุศลธรรมก็เกิด บางครั้งอกุศลธรรมก็เกิด แล้วแต่ว่าจะมีปัจจัยที่จะทำให้ธรรมฝ่ายใดเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าแม้จะรู้ว่าเป็นอกุศลธรรม แต่ปัญญาไม่มีกำลังพอที่จะละคลายอกุศลธรรมขั้นนั้นๆ
บางคนพูดเท็จง่ายมาก โดยคิดว่าไม่เป็นไร เป็นเรื่องธรรมดา อย่างนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่เกลียดต่อบาปธรรมในการพูดเท็จ เป็นอาการที่ปรากฏในขณะที่พูดเท็จ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะกาย วาจา เท่านั้น แม้ใจก็จะต้องรู้ว่า มีอกุศลธรรมระดับขั้นต่างๆ แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตในแต่ละขณะ ให้เป็นผู้ที่ตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น ถ้ายังคด คือ ไม่ตรงกับลักษณะของสภาพธรรม ก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลธรรมได้ และก็อาจจะเข้าใจว่า อกุศลธรรมไม่เป็นไร เพราะไม่เกลียดต่อบาปธรรม
สำหรับเหตุใกล้ให้เกิดของอหิริกะ คือ ไม่มีการเคารพตน หมายความว่า ไม่เห็นว่า ตนเป็นผู้ไม่ควรที่จะมีอกุศลธรรมนั้นๆ ถ้าขณะใดที่คิดว่าตนเป็นผู้ที่ไม่ควรจะมีอกุศลธรรมนั้นๆ จะทำให้เกิดหิริ ความละอายต่ออกุศลธรรม แต่ถ้าขณะใดที่ไม่คิดอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นเพราะอหิริกะ ซึ่งมีเหตุใกล้ คือ ไม่เห็นว่าตนเป็นผู้ที่ไม่ควรจะมีอกุศลธรรมนั้น ๆ
ธรรม จึงไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย เป็นชีวิตจริงๆ ในแต่ละขณะ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้นที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา ได้มีการกล่อมเกลาจิตใจ ให้น้อมไปในทางที่ถูกที่ควร ละเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ละอายต่อบาปอกุศลในชีวิตประจำวัน ก็จะค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความไม่ละอายต่อบาปไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะสามารถดับอกุศลทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น ซึ่งต้องตั้งต้นที่ละอายต่อความไม่รู้ ทำให้มีการฟังมีการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้ว ย่อมเกื้อกูลได้ในทุกระดับขั้น ไม่มีโทษใดๆ เลยสำหรับปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ