[คำที่ ๑๓๕] ขนฺธ

 
Sudhipong.U
วันที่  27 มี.ค. 2557
หมายเลข  32255
อ่าน  717

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “ขนฺธ

คำว่า ขนฺธ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านออกเสียงในภาษาบาลีว่า ขัน - ดะ เขียนเป็นไทยได้ว่า ขันธ์ แปลว่า สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน ขณะนี้  เป็นขันธ์  เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขันธ์ มี ๕ ตามข้อความจาก มโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถสูตร ว่า 

จิต นั้น ได้แก่ วิญญาณขันธ์ เวทนาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์ นั้น ชื่อว่า เวทนาขันธ์ สัญญาที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่า สัญญาขันธ์ ผัสสะและเจตนา เป็นต้น ที่เกิดร่วมกับวิญญาณขันธ์นั้น ชื่อว่า สังขารขันธ์ ขันธ์ทั้ง ๔  ดังว่ามานี้ ชื่อว่า อรูปขันธ์ (นามขันธ์ ๔). อนึ่ง มหาภูตรูป ๔  และรูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔  ชื่อว่า  รูปขันธ์. บรรดารูปขันธ์และอรูปขันธ์นั้น อรูปขันธ์ ๔ เป็นนาม รูปขันธ์เป็นรูป. มีธรรมอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น    คือ  นาม ๑    รูป ๑.


พุทธประสงค์ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ (รู้อย่างแจ่มแจ้ง) ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจเป็นคำในภาษามคธอันเป็นภาษาที่ดำรงรักษาพระศาสนา ซึ่งแต่ละชนชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษานั้น ก็ใช้ภาษาของตนเองเพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมที่มีจริงๆ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่ทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ การตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีจริง ต้องรู้ในสิ่งที่มีจริง ขณะนี้มีสิ่งที่มีจริง  เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงตรัสรู้ นั้น ทรงตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ทุกกาละสมัย  

ไม่ว่าจะในสมัยใดก็ตามมีสิ่งที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้และทรงแสดง แต่เป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะว่า ก่อนที่จะได้ทรงบรรลุเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีซึ่งหมายความถึงคุณความดีมากมายมหาศาลเพื่อที่จะไม่ให้จิตเศร้าหมอง ไม่ให้เป็นไปกับอกุศลที่ทำให้ไม่สามารถที่จะเห็นความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นสาวก จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมด้วยความเคารพ คือ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยิน ให้ถูกต้อง ชัดเจนไม่ใช่ให้คิดเอง

แม้แต่ในคำ ว่า ขันธ์ ซึ่งต้องฟังให้เข้าใจว่า มีในขณะนี้จริง ๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง, ขันธ์ ๕  โดยชื่อ ก็คือ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (เจตสิก ๕๐ มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑  ไม่ใช่ให้จำในจำนวน แต่ให้เริ่มเข้าใจว่าต้องมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย  ทั้งหมด เป็นขันธ์  เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย เช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา ทุกคนไม่ปฏิเสธ เพราะกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้  สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีธาตุที่กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และเห็น มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ซึ่งประมวลได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปขันธ์ และเห็นก็เป็นขันธ์ คือ เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์  เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจหน้าที่) เอกัคคตา (สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการะ(สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดดับ นี้คือ การยกตัวอย่างให้เข้าใจถึงความเป็นขันธ์ ขณะนี้เป็นอย่างนี้ไม่พ้นจากขันธ์เลย

 จากการที่ไม่รู้เลยว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงที่กำลังมีในขณะนี้ ก็เริ่มที่จะรู้ว่า สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้เพื่อให้คนที่กำลังฟังในขณะนี้ รู้ตาม ไม่ใช่คิดเอง ขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวในบรรดาขันธ์ทั้งหลายที่สามารถปรากฏให้เห็นได้ ก็ลองพิจารณาไตร่ตรองดูว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่ เกิดแล้วก็ดับไป แม้ธาตุรู้ คือ จิตที่เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นเห็น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างมีปัจจัยที่จะเกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่รู้ จึงมีความติดข้อง คือ มีโลภะ ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏเพียงปรากฏให้เห็น ให้ติดข้อง แล้วก็หมดไป ได้ยินเสียง ก็ชอบเสียง เสียงหมดแล้ว ชอบแล้วมีประโยชน์อะไรกับสิ่งที่เพียงปรากฏ ให้ชอบให้พอใจซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย ทำให้เริ่มเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีในขณะนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า กล่าวคือ ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ธรรมก็เป็นอย่างนี้ เป็นแต่ละขันธ์ แต่ละขันธ์จริงๆ ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ