[คำที่ ๑๓๖] สงฺคหวตฺถุ

 
Sudhipong.U
วันที่  3 เม.ย. 2557
หมายเลข  32256
อ่าน  728

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “สงฺคหวตฺถุ

คำว่า สงฺคหวตฺถุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า สัง - คะ - หะ -  วัด - ถุ เขียนเป็นไทยได้ว่า สังคหวัตถุ แปลว่า ธรรมที่เป็นเครื่องสงเคราะห์ เป็นธรรมฝ่ายดีที่สามารถเกิดขึ้นเป็นไปได้ในชีวิตประจำวัน ตามการสะสมของแต่ละบุคคลว่าจะเห็นประโยชน์ของกุศลธรรมมากน้อยแค่ไหน สังคหวัตถุ มี ๔ ประการ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สังคหวัตถุสูตร ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังคหวัตถุ (ธรรมที่เป็นเครื่องสงเคราะห์) ๔ ประการนี้ สังคหวัตถุ ๔ ประการ คืออะไร? คือ ทาน (การให้) ๑ เปยยวัชชะ  [หรือ ปิยวาจา] (เจรจาไพเราะ) ๑ อัตถจริยา (บำเพ็ญประโยชน์ต่อกัน ) ๑ สมานัตตตา (ความเป็นผู้มีตนเสมอ) ๑ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย    สังคหวัตถุ ๔  ประการ


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทุกระดับขั้น ตั้งแต่ความดีขั้นต้นในชีวิตประจำวัน จนถึงความดีที่สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น แสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมว่า ไม่มีพระธรรมแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดอกุศลแม้เล็กน้อย สังคหวัตถุ ก็โดยนัยเดียวกัน เป็นพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นธรรมที่ดีงาม เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขในชีวิตประจำวันจริงๆ ในขณะที่กุศลเกิดขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ของตนเองแล้ว กุศลของตนเองนั้นยังเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วย เป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์แก่ผู้อื่น 

สังคหวัตถุเป็นธรรมที่สงเคราะห์หรือช่วยที่จะให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตประจำวัน มี ๔ ประการ ได้แก่ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจา การพูดคำพูดที่ไพเราะน่าฟัง ๑ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ๑ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ ๑  สังคหวัตถุทั้ง ๔  ประการนี้ จะทำให้เรามีความสุขได้จริงๆ ถ้าเราเป็นผู้ที่มีสังคหวัตถุ และคนอื่นที่ได้รับสังคหวัตถุจากเรา สังคหวัตถุประการแรก คือ ทาน การให้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น การให้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ให้ได้ทั้งหมดเลย เป็นสิ่งของเล็กๆน้อยๆก็ได้  เป็นวิชาความรู้ก็ได้ เป็นคำแนะนำก็ได้ และการให้ที่มีค่าที่สุด คือ การให้ความเข้าใจถูกเห็นถูก ขณะใดที่มีจิตเป็นกุศล ก็ย่อมสามารถจะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ ก็สามารถสอนหรือถ่ายทอดความรู้นั้นให้คนอื่น ขณะนั้นก็เท่ากับให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน แม้จะไม่ใช่วัตถุทาน แต่การให้ความรู้ความสามารถกับคนอื่น ก็เท่ากับว่าเราสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้คนอื่น แล้วคนที่ได้รับก็จะต้องมีความดีใจมาก ดังนั้นในเรื่องของทาน การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ได้ทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ มี เสื้อผ้า อาหาร ยารักษาโรค ความรู้  ความสามารถ เป็นต้น ที่จะช่วยให้คนอื่นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ ย่อมเป็นสิ่งที่ดีทั้งผู้ให้และผู้รับ

สังคหวัตถุที่ ๒ คือ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ความสุขของเราในวันหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับคำที่เราได้ยินได้ฟัง มาก ถ้าเราได้ยินคำที่น่าฟัง ย่อมทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกสบายใจ แล้วอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าบางคนอาจจะมีความท้อแท้ด้วยโรคภัย หรืออาจจะมีความท้อแท้ในเรื่องปัญหาชีวิต เรื่องความน่าเบื่อหน่ายต่างๆ เศรษฐกิจ รถติด เป็นต้น ก็เป็นความท้อแท้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถมีปิยวาจา คือ คำที่ทำให้คนอื่นมีกำลังใจ สบายใจขึ้น ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ถ้าเราเคยเป็นคนที่พูดไม่น่าฟัง เพราะว่าติดนิสัย เคยใช้คำพูดอย่างนั้นบ่อยๆ แต่ถ้าฟังถึงประโยชน์ของปิยวาจาเราก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า แทนที่เราจะพูดอย่างนั้น เราจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ และประโยชน์ก็มีมากกว่าด้วย คือ ขณะนั้นจิตใจของเราก็เป็นกุศล แล้วคนฟังก็สบายใจ มีคำพูดที่ฟังกันสบายทั้งวัน ก็คงจะดีกว่าได้ยินคำที่ฟังแล้วไม่สบายใจ เพราะฉะนั้น ปิยวาจา การพูดถ้อยคำที่ไพเราะน่าฟัง ก็เป็นสิ่งที่สงเคราะห์ให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

สังคหวัตถุที่ ๓ คือ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ หมายความถึงช่วยเหลือคนอื่นนั่นเอง เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีน้ำใจ เช่น ที่โต๊ะอาหาร ยื่นอาหารให้ รินน้ำให้ ยกข้าวให้ เห็นใครทำอะไร ของตก เก็บให้เลย เป็นต้น นั่นก็คือการกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติในชีวิตประจำวันที่เป็นประโยชน์นั้น มีเราสามารถจะประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ เพราะว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ล่วงไปทีละขณะๆ จริงๆ เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย แต่เราได้รับประโยชน์อะไรจากชีวิตขณะหนึ่งที่ล่วงไปแล้ว ดังนั้น การขัดเกลาจิตใจของเราให้เบาบางจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนโลภมาก เป็นคนโกรธมาก มาเป็นผู้ที่เสียสละเห็นประโยชน์ของคนอื่นด้วยการช่วยเหลือคนอื่น อย่างนี้ก็เป็นอัตถจริยา คือ การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น 

สังคหวัตถุที่ ๔ คือ สมานัตตตา ความเป็นผู้มีตนเสมอ การมีตนเสมอมักจะมีปัญหาเสมอ ว่า จะเสมอกันได้อย่างไร มีลูกจ้างกับนายจ้าง มีพี่กับน้อง มีพ่อกับแม่บ้าง มีฐานะตำแหน่งในราชการต่างๆกันบ้าง หรือคนในบ้านของเราเองก็มีผู้รับใช้ช่วยเหลือบ้าง และจะเสมอกันได้อย่างไร แต่ตามความจริง การเสมอในที่นี้ เป็นการเสมอในคุณธรรม ไม่ใช่ในสิ่งที่เรามองจากวัตถุภายนอก แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราเป็นผู้ที่เข้าใจทุกคนเหมือนกับที่เราเข้าใจตัวเราเองว่า เราต้องการมีความสุข และไม่ชอบมีความทุกข์ คนอื่นต้องเหมือนกันหมดเลย ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ความเป็นผู้มีตนเสมอกับคนอื่น จะไม่ทำให้มีช่องว่างเลย และทำให้เรามีความสบายใจด้วย ไม่มีการเอาเปรียบซึ่งกันและกัน ไม่มีการถือตัวว่าตนเองเป็นคนสำคัญ 

โอกาสของกุศลธรรมที่จะเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประการใดที่จะควรจะได้สะสมอบรมเจริญขึ้น ก็ไม่ปล่อยโอกาสนั้นให้ผ่านไป เพราะขณะที่มีค่า มีประโยชน์ คือ ขณะที่กุศลเกิดขึ้น ถ้าไม่เจริญกุศล ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้น หนาแน่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ