[คำที่ ๑๓๗] อสปฺปุริส

 
Sudhipong.U
วันที่  10 เม.ย. 2557
หมายเลข  32257
อ่าน  347

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  "อสปฺปุริส"

คำว่า อสปฺปุริส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - สับ - ปุ - ริ -  สะ เขียนเป็นไทยได้ว่า อสัปบุรุษ หมายถึง คนชั่ว คนไม่ดี ในภาษาไทยจะคุ้นกับคำว่า อสัตบุรุษ  ซึ่งก็มีความหมายอย่างเดียวกันกับอสัปบุรุษ นั่นเอง พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงที่เกี่ยวกับอสัปบุรุษ มีมาก แต่เมื่อประมวลแล้ว ความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม ที่ปรากฏออกมาในลักษณะที่ไม่ดีประการต่างๆ ดังเช่นข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สัตตกัมมสูตร ว่า  

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ อสัปบุรุษเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นคนมักฆ่าสัตว์ มักลักทรัพย์ มักประพฤติผิดในกาม มักพูดเท็จ มักพูดคำส่อเสียด มักพูดคำหยาบ มักพูดคำเพ้อเจ้อ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้ เราเรียกว่า อสัปบุรุษ”


ทุกคนที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นหนึ่งในสุคติภูมินั้น มีความเสมอกันโดยความที่มีนามธรรม และ รูปธรรม กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และรูป(สภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้) เกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่แตกต่างกัน คือ การสะสม และการได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกันเลยจริงๆ คนที่มีความประพฤติที่ไม่ดี เป็นคนชั่ว เป็นอสัปบุรุษ  ขาดความละอาย ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ขาดเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เป็นต้น นั้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นแต่ธรรม คือ อกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน    เราไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงคนทั้งโลกให้มีความประพฤติที่ดีงามเหมือนกันทั้งหมดได้ เพราะย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล    

ถึงแม้จะมีอกุศลมากมาย เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าได้เริ่มเห็นโทษของอกุศลขึ้นมาบ้าง จากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ย่อมจะดีกว่าที่เป็นอกุศลแล้ว ไม่เห็นโทษ และไม่ยอมถอยกลับจากอกุศลเลย ที่จะเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และถอยกลับจากอกุศลได้ ต้องเป็นผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อกุศลที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ สะสมท่วมทับอย่างมากมาย (ถ้าเป็นวัตถุ ก็คงจะไม่มีที่เก็บ เพราะมากเหลือเกิน) จะค่อยๆ ละคลายให้เบาบางลงจนกระทั่งสามารถดับได้อย่างหมดสิ้นไม่มีเหลือเลย นั้นก็ต้องด้วยปัญญา 

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูลให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวัน   มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถดับกิเลสได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องมีปัญญา ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของปัญญาได้ว่า  สามารถดับกิเลสได้จนหมดเกลี้ยงจากใจ พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น กิเลสที่ท่านได้สะสมมา ก็ยังมีอยู่ครบ เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่เมื่อใดที่ปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น จนกระทั่งมรรคจิตเกิดขึ้น ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ กิเลสที่ดับได้แล้วก็จะไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์และผู้ที่จะไม่มีกิเลสใดๆ เลยนั้น คือ พระอรหันต์ ดังนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับ ความประพฤติที่ไม่ดีประการต่างๆ ก็ย่อมจะมีได้ เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อสะสมกิเลสมามาก ก็ทำให้มีการล่วงออกมาทางกายและวาจาที่ไม่ดี อันแสดงถึงกำลังของกิเลสและขณะที่กิเลสเกิดขึ้นล่วงออกมาทางกาย วาจา ก็เป็นขณะที่ขาดความละอายและเกรงกลัวต่อบาปในขณะนั้น

เป็นที่น่าพิจารณาว่า แต่ละคนก็มีกิเลสมากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งเราและเขา เมื่อเราเห็นถึงความเป็นธรรมดาของสัตว์โลก ก็ควรเห็นใจและเข้าใจในบุคคลเหล่านั้น เพราะในความเป็นจริง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลเลย มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้นเอง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ก็จะเห็นตามความเป็นจริงและไม่เป็นอกุศลในเมื่อผู้อื่นเป็นอกุศลเพราะเราเข้าใจความจริงแล้ว และก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดต่อไป ด้วยการศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และน้อมประพฤติตามพระธรรมด้วยความจริงใจ ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นอสัปบุรุษไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะเหตุว่า ภาระหน้าที่ที่สำคัญที่สุดในชีวิตก็คือ สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป เพราะการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกลมาก ความดีและความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ