[คำที่ ๑๓๙] ตตฺรมชฺฌตฺตตา

 
Sudhipong.U
วันที่  24 เม.ย. 2557
หมายเลข  32259
อ่าน  543

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ตตฺรมชฺฌตฺตตา”

คำว่า ตตฺรมชฺฌตฺตตา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า ตัด - ตะ (ออก อะ กึ่งเสียง) ระ - มัด - ชัด - ตะ - ตา มาจากคำว่า ตตฺร (ในธรรมนั้นๆ) มชฺฌตฺตตา (ความเป็นกลาง คือ ตรง ไม่เอนเอียง) เขียนเป็นไทยได้ว่า ตัตรมัชฌัตตตา แปลว่า ความเป็นกลาง คือ ตรง ไม่เอนเอียงในธรรมนั้นๆ โดยความหมาย คือ ไม่หวั่นไหวไป ไม่เอนเอียงไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม มีกุศลจิตเป็นต้น ดังนั้น  ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นนั่น ตรงแล้ว เพราะไม่เป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรมใดๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เลย คำอธิบายความเป็นจริงของตัตรมัชฌัตตตา ตามข้อความจากอัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์ มีดังนี้ 

ตัตรมัชฌัตตตา มีการยังจิตและเจตสิกให้เป็นไปสม่ำเสมอ เป็นลักษณะ
[คือ ไม่เอนเอียงไปด้วยความรักและความชัง]

มีการห้ามความยิ่งและหย่อนของจิตและเจตสิก เป็นกิจ
[คือ ไม่ให้ตกไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เป็นกิจหน้าที่]

มีการตัดขาดการตกไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
[คือตัดขาดความไม่เสมอในอารมณ์ทั้งหลาย คือ ด้วยโลภะ หรือ โทสะ  เป็นต้น]

มีความเป็นกลาง เป็นอาการปรากฏ [ไม่หวั่นไหวไปด้วยอกุศล]

มีสัมปยุตตธรรมเป็นเหตุใกล้ [มีโสภณสาธารณเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือ มีศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโลภะ มีอโทสะ เป็นต้น เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น]


การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริง  เพราะสิ่งที่กำลังฟัง กำลังศึกษาให้เข้าใจนั้น ล้วนมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน แต่เพราะไม่รู้ จึงต้องฟัง ต้องศึกษาให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง จากที่มากไปด้วยความไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟัง ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่ใช่เรา เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย จนกว่าปัญญาจะค่อยๆ เจริญขึ้น รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริงได้ในที่สุด แม้แต่ตัตรมัชฌัตตตาก็มีจริงในชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีจริง ในขณะที่ความดีเกิดขึ้นเป็นไป

ตัตรมัชฌัตตตา เป็นเจตสิกธรรมที่เป็นกลาง เที่ยงตรง ไม่เอนเอียง เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท คำว่า ตัตตรมัชฌัตตตานั้น ถ้าได้ฟังบ่อยๆ ก็จะจำได้ คุ้นเคยในคำที่ได้ยินได้ฟังด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า เจตสิกนี้เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียง เที่ยงตรง จึงจะเป็นกุศลได้ ซึ่งเป็นการยาก ลองคิดดูถึงการที่จะเป็นผู้ที่ตรง ไม่เอนเอียง ในเมื่อยังมีความเห็นผิดบ้าง มีความเห็นถูกบ้าง มีความเข้าใจผิดบ้าง มีความเข้าใจถูกบ้าง แล้วยังเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แล้วจะเป็นอย่างไรนี่ เป็นเรื่องที่ละเอียดที่จะต้องพิจารณา และจะต้องเป็นผู้ตรงต่อสภาพของจิตจริงๆ

ถ้ายังไม่รู้ตัวเองว่า ไม่มีโทสะในขณะนั้น แต่มีโลภะเกิดขึ้น ถ้าไม่รู้อย่างนี้ โลภะก็เกิดต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นชีวิตจริงๆ ของทุกคนในทุกวัน ต่อเมื่อใดโสภณสาธารณเจตสิก (เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท) เกิดขึ้น มีตัตรมัชฌัตตตา เป็นต้น ก็เห็นว่า แม้โลภะก็เป็นสิ่งซึ่งไม่ควรจะเกิด  เมื่อนั้นขณะนั้นจิตที่เป็นกุศล   จึงจะเกิดขึ้นเป็นไปในทานบ้าง  เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในความสงบของจิตบ้าง เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม บ้าง นี่คือชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคลที่เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น 

นอกจากนั้น  ตัตตรมัชฌัตตตา เป็นสภาพธรรมที่ไม่เอนเอียงด้วยอคติ (ความลำเอียง) คือ ไม่เอนเอียงด้วยฉันทาคติ ความพอใจรักใคร่ โทสาคติ ความไม่พอใจ ความไม่ชอบใจ โมหาคติ ความไม่รู้ความจริง หรือ ภยาคติ คือ ความกลัว ต้องเป็นผู้ตรงที่จะพิจารณาเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ และสภาพของจิตแต่ละขณะในแต่ละเหตุการณ์นั้นด้วย จึงจะรู้ว่ามีฉันทาคติ เป็นผู้ที่ไม่ตรง เพราะมีความชอบใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือไม่ มีโทสาคติ เพราะไม่ชอบใจบุคคลหนึ่งบุคคลใด ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือไม่ มีโมหาคติ เพราะไม่ได้รู้เรื่องจริงๆ ตามความเป็นจริงเลยว่า เรื่องจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร หรือไม่ แล้วมีภยาคติ คือ ความกลัว อาจจะกลัวความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ หรือการที่บุคคลอื่นจะติเตียน ก็ต้องการที่จะให้เป็นที่รักที่ชอบใจ หรือไม่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่ตรง ถ้าในขณะที่ทำด้วยความลำเอียงซึ่งเป็นอกุศลธรรม

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อเกื้อกูลให้ได้เข้าใจว่า กุศล เป็น กุศล  อกุศล เป็น อกุศล กุศล ควรอบรมเจริญ ควรสะสมให้มีขึ้น แต่ถ้าเป็นอกุศลแล้ว ควรเห็นโทษแล้วถอยกลับจากอกุศล ไม่ควรสะสมให้มีมากขึ้น สภาพธรรมที่ดีงามในชีวิตประจำวัน ย่อมคล้อยไป เป็นไปตามความเข้าใจพระธรรมอย่างแท้จริง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น คือ ความเจริญขึ้นของกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน ล้วนมาจากการได้เข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ