[คำที่ ๑๔o] กมฺมสฺสก

 
Sudhipong.U
วันที่  1 พ.ค. 2557
หมายเลข  32260
อ่าน  445

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "กมฺมสฺสก"

คำว่า กมฺมสฺสก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง คนไทยอาจจะเคยได้ยินคำนี้อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย ซึ่งมาจากคำว่า กมฺม (กรรม,เจตนาที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม และอกุศลกรรม) สก(ของตน) ซ้อน สฺ  จึงรวมกันเป็น กมฺมสฺสก แปลว่า มีกรรมเป็นของของตน แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม คือ เจตนา ที่สำเร็จเป็นกุศลกรรม และ อกุศลกรรม เป็นของแต่ละคน ไม่ปะปนกันเลย กรรมของใคร ก็เป็นของคนนั้น เมื่อเป็นกรรมของตนเอง ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมเกิดขึ้นกับตนเอง ไม่ใช่คนอื่น ตามข้อความจากพระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย   อุปริปัณณาสก์   จูฬกัมมวิภังคสูตร ว่า

“ดูกร มาณพ สัตว์ทั้งหลาย มีกรรมเป็นของของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมย่อมจำแนกสัตว์ให้เลวและประณีตได้”


กรรม ซึ่งเป็นเจตนาที่กระทำสำเร็จเป็นกุศกรรม และ อกุศลกรรม จำแนกบุคคลให้ต่างกันตั้งแต่เกิด คือ ต่างกันด้วยกำเนิด ชาติ  ตระกูล ยศ  ทรัพย์สมบัติเป็นต้น เมื่อกรรมเหล่านั้นถึงคราวให้ผล และกรรมที่ได้สะสมมาทั้งในอดีต และในปัจจุบันชาตินั้น ก็มีมากมายหลากหลายนับไม่ถ้วน แต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน จะเอากรรมของตนไปให้คนอื่นก็ไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละคน ก็เป็นแต่ละหนึ่ง  ไม่ปะปนกัน, การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม คือ กุศลกรรมใดกุศลกรรมหนึ่ง ที่ได้กระทำแล้วในอดีต และการเกิดเป็นมนุษย์ ก็สั้นมาก เพราะเหตุว่าการเกิดเป็นมนุษย์ มีอายุอย่างมากก็ไม่เกิน ๑๐๐ ปีหรือเกินกว่านั้นก็มีเป็นเพียงส่วนน้อย ถ้ากรรมใด มีโอกาสให้ผ] กรรมนั้นก็ให้ผล แล้วแต่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลกรรม หรือ กุศลกรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ควรอย่างยิ่งที่จะเข้าใจใน เหตุและผล  ให้ตรงกันว่า กรรมที่ดี คือ กุศลกรรม ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี กรรมชั่ว คือ อกุศลกรรม ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ตัวอย่างเช่น ถ้าขณะที่มีทรัพย์ ก็รู้ว่าการได้ทรัพย์มานั้น เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว และถ้ากรรมชั่ว หรืออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วมีโอกาสให้ผล ทรัพย์ที่มีอยู่นั้น ก็จะสูญหายหรือถูกทำลายจนหมดสิ้นไปเมื่อใดก็ได้ ซึ่งไม่มีใครทำให้เลย

บรรดาสิ่งที่ดีทั้งหลายที่ได้รับในชีวิตของแต่ละบุคคล ย่อมมาจากเหตุ คือ กุศลกรรม ที่ได้กระทำแล้ว นั่นเอง เหตุที่ดีย่อมให้ผลที่ดีเท่านั้น ส่วนเหตุที่ไม่ดี จะทำให้เกิดผลที่ดีเป็นไปไม่ได้เลย จิตใจที่ดีย่อมเป็นเหตุให้เกิดการกระทำที่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ซึ่งจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผลที่ดีในกาลต่อไป

ถ้ามีความเข้าใจถูก ตามความเป็นจริงตามเหตุและผล ว่ารูปสมบัติ ผิวพรรณ วรรณะ ทรัพย์ สมบัติ บริวารสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ   เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดีนั้น จะเกิดขึ้นได้ หรือ การได้มาซึ่งสิ่งที่ดีเหล่านั้น ก็เพราะ “เหตุที่ดี” เพราะจิตใจที่ดีงาม เท่านั้น

ถ้าจะพิจารณาถึงประโยชน์ของการที่จะเข้าใจเรื่องกรรมซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ก็จะเห็นได้ว่า เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศล ก็จะได้เจริญกุศลยิ่งขึ้น    และ ขณะใดเป็นอกุศลกรรม ก็จะได้เว้นสิ่งนั้น ยกตัวอย่างเจตนาฆ่า เจตนาเบียดเบียนทั้งหมดเป็นอกุศล ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นบิดามารดา หรือไม่ใช่บิดามารดา ผู้ที่ใกล้ชิด หรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยเลยก็ตาม ก็จะทำให้ละเว้นอกุศลกรรมกับทุกบุคคล และถ้ามีเจตนาที่เป็นกุศล รู้ว่าขณะใดเป็นกุศล  เช่น การให้ทาน การช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น การฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นต้น เป็นโอกาสที่จะได้เจริญกุศลเหล่านั้น โดยไม่ผ่านไป ก็ย่อมสามารถที่จะกระทำกุศลกรรมเพิ่มขึ้น สะสมเป็นที่พึ่งให้กับตนเองต่อไป   

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการศึกษาเรื่องกรรมและเข้าใจจริงๆ อย่างถูกต้องว่าแต่ละคนมีกรรมเป็นของของตน ก็จะทำให้อกุศลกรรมลดน้อยลง และกุศลกรรมเจริญขึ้น นอกจากนั้นยังเป็นประโยชน์ในการเจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะใดเป็นกรรม ซึ่งเป็นเหตุ และขณะใดเป็นวิบากซึ่งเป็นผล จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เช่น ในขณะที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นผลของกรรม เป็นวิบาก ขณะใดที่จิตเศร้าหมองไม่ผ่องใส ขณะนั้นก็รู้ว่าเป็นอกุศลจิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แม้สภาพธรรมที่เป็นกุศล ก็ไม่ติดว่าเป็นกุศลของเรา   เพราะเหตุว่ากุศลธรรมก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการฟังการศึกษาในเรื่องของสภาพธรรมใด ก็ตาม  ย่อมทำให้ขัดเกลา ละคลายการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ในที่สุด.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ