[คำที่ ๑๔๑] กาม

 
Sudhipong.U
วันที่  8 พ.ค. 2557
หมายเลข  32261
อ่าน  541

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "กาม"

คำว่า กาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า กา - มะ เขียนเป็นไทยตรงตัวได้ว่า กาม แปลว่า ใคร่ ซึ่งมี ๒ นัย คือ มุ่งหมายถึง กิเลสกาม อันได้แก่ กิเลสที่เป็นความใคร่ ความติดข้อง ยินดีพอใจ ได้แก่  โลภะ และอีกนัยหนึ่ง มุ่งหมายถึง ที่ตั้งแห่งความติดข้อง หรือเรียกว่าอารมณ์ของโลภะ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่โลภะติดข้องมีมาก ยกเว้นโลกุตตรธรรม ๙  (มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน) เท่านั้น ที่ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความติดข้อง นอกนั้นแล้วเป็นที่ตั้งแห่งความติดข้องได้ทั้งหมด ข้อความจากปรมัตถโชติกา อรรถกถาขุททกนิกาย  สุตตนิบาต  ขัคควิสาณสูตร แสดงถึงกาม ๒ อย่าง ไว้ดังนี้ ฃ

“บทว่า กามา ได้แก่ กาม ๒ อย่าง คือ วัตถุกาม ๑ กิเลสกาม ๑. ในกาม ๒ อย่างนั้น ธรรมทั้งหลาย มีรูปเป็นที่รักของใจเป็นต้น ชื่อว่า วัตถุกาม ธรรมทั้งหลาย อันเป็นประเภทแห่งราคะ (ความยินดีพอใจ) แม้ทั้งหมด เรียกว่า กิเลสกาม. วัตถุกามทั้งหลาย ชื่อว่า งามวิจิตร ด้วยอำนาจแห่งประการหลายอย่างมีรูป เป็นต้น, ชื่อว่า มีรสอร่อย ด้วยอำนาจแห่งความยินดีของชาวโลก, ชื่อว่า เป็นที่รื่นรมย์ใจ เพราะอรรถว่า ยังใจของปุถุชนคนโง่ให้รื่นรมย์”


ชีวิตประจำวันยากที่จะพ้นจากโลภะ มากไปด้วยโลภะ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจนกว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) ได้อย่างเด็ดขาดบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศล เกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินพอใจในสิ่งต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อน เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และ เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่ทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

ความติดข้องยินดีพอใจ ติดแน่นเป็นไปในอารมณ์บ่อยๆ เนืองๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน หน้าที่ของโลภะ ซึ่งเป็นกิเลสกามนั้น คือ ติดข้อง ยินดีพอใจ ผูกพันกับสิ่งที่ติดข้อง ไม่ปล่อย ไม่สละ และเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้กุศลธรรมเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นที่ตั้งให้โลภะติดข้อง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ที่ตั้งแห่งความติดข้องยินดีพอใจ ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมนั้นโดยนัยใดก็ตาม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย     

ความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นกิเลสกาม เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ มีโลภะ มีความติดข้องต้องการ แต่สะสมศรัทธามาที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง จนกระทั่งสามารถดับความติดข้องยินดีพอใจได้ นี้คือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์ การถึงความน่าอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้ ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อละกาม กล่าวคือ เพื่อละความติดข้องยินดีพอใจจนหมดสิ้น ไม่ต้องมีการเกิดอีกในภพใหม่ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีก ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งก็จะต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในคำแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ