[คำที่ ๑๔๒] อาฆาตวัตฺถุ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  15 พ.ค. 2557
หมายเลข  32262
อ่าน  483

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "อาฆาตวตฺถุ”

คำว่า อาฆาตวตฺถุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำว่า อาฆาต (ความอาฆาตหรือความโกรธ) รวมกับคำว่า วตฺถุ (ที่ตั้ง) รวมกันเป็น อาฆาตวตฺถุ อ่านตามภาษาบาลีว่า อา - คา - ตะ - วัด - ถุ แปลว่า ที่ตั้งที่ทำให้ความอาฆาตหรือความโกรธ เกิดขึ้น มีรายละเอียดหลากหลายมาก ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต  อาฆาตวัตถุสูตร ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ ประการนี้ ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ บุคคลย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่เรา ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่เป็นที่รักที่ชอบใจของเรา ๑ ย่อมผูกความอาฆาตว่า บุคคลโน้นได้ประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเราแล้ว ๑ กำลังประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ จักประพฤติสิ่งอันเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของเรา ๑ ย่อมโกรธในฐานะที่ไม่ควร ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วัตถุแห่งความอาฆาต ๑๐ประการนี้แล”   


ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และจะเกิดเองลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีสาเหตุหรือที่ตั้งที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธที่เกิดขึ้นในวันหนึ่งๆ ลองพิจารณาถึงสาเหตุว่า มาจากเหตุอะไรที่ทำให้ความโกรธเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ความโกรธที่เกิดนั้นย่อมเป็นไปในบุคคลอื่นทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าทุกคนย่อมมีทั้งผู้ที่เป็นที่รักบ้าง ย่อมมีทั้งผู้ที่ไม่เป็นที่รักบ้าง และมีเพียงอย่างเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวกับบุคคล ที่เรียกว่า โกรธในฐานะที่ไม่ควร เช่น เดินชนโต๊ะ สะดุดพื้นหกล้ม อากาศร้อน อากาศหนาว ฝนตก ฟ้าร้อง เป็นต้น ก็เกิดความโกรธ ไม่พอใจได้

เมื่อบุคคลใดได้กระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อท่านแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยทำให้ท่านเกิดความไม่พอใจ เกิดความโกรธขึ้น เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ใครซึ่งคนอื่นทำสิ่งที่ไม่พอใจให้ แล้วไม่โกรธ ต้องเป็นบุคคลที่หายาก และบุคคลที่ไม่โกรธจริงๆ ก็ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ความขุ่นใจสักเล็กน้อย มีบ้างไหม ถ้ามีผู้อื่นประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือกระทำสิ่งที่ไม่ดีต่อท่าน?

ถ้าบุคคลนั้นกำลังทำสิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ท่าน หรือว่าจะกระทำสิ่งซึ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน ยังไม่ได้ทำแต่เพียงรู้ว่าจะทำ ขณะนั้นก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความโกรธได้ นอกจากตัวท่านเอง ก็ยังไปถึงบุคคลซึ่งเป็นที่รักอีกว่า ใครทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นที่รัก  ถ้าเขาทำแล้ว หรือกำลังทำอยู่ หรือจะทำในกาลข้างหน้า ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้เกิดความโกรธได้    

นอกจากนั้นก็ยังเลยไปถึงผู้ซึ่งไม่เป็นที่รักอีก ก็ลองพิจารณาดูลักษณะของความโกรธที่จะเกิดขึ้น เพราะเหตุว่าถ้าใครเป็นที่ไม่รัก ไม่พอใจ แล้วมีคนอื่นมาทำดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนนั้น ความโกรธก็เกิดขึ้นได้ เพราะเหตุว่าคนนั้นทำสิ่งที่ดีกับคนที่ท่านไม่ชอบ หรือว่ากำลังทำดี กำลังทำประโยชน์กับผู้ที่ท่านไม่ชอบ หรือว่าจะทำดี จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ท่านไม่ชอบ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่จริงๆ เมื่อได้เหตุปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากบุคคลที่ท่านดับกิเลสได้แล้ว กิเลสที่ท่านดับได้แล้ว จะไม่มีวันเกิดอีก ไม่ว่าจะประสบกับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม 

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาความโกรธของตนเองว่า ความโกรธในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร ในบรรดาอาฆาตวัตถุ ๑๐ ประการนี้ แล้วก็ควรจะพิจารณาถึงการกระทำของตนเองด้วย ไม่ใช่เพียงแต่พิจารณาถึงการกระทำของคนอื่น

ถ้าเกิดโกรธ ส่วนใหญ่แล้วจะมองคนอื่น หรือเห็นโทษของคนอื่น แต่ลืมย้อนกลับมาพิจารณาตนเองว่า ตนเองได้กระทำผิดอะไรบ้างหรือไม่ แม้เพียงเล็กน้อย ถ้าตัวท่านเองเป็นผู้ผิด เป็นเหตุให้คนอื่นกระทำกายวาจาอย่างนั้น ถ้าพิจารณาโทษของคนอื่นแล้วโกรธ ย่อมไม่เป็นประโยชน์เท่ากับพิจารณาความผิดของตนเองว่า มีความผิดอะไรหรือไม่ เมื่อเห็นความผิดของตนเอง ย่อมสามารถที่จะแก้ไขความผิดนั้น แล้วก็ไม่โกรธคนอื่นด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความผิดของท่าน ท่านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพื่อที่จะได้ไม่ทำอีก แต่ถ้าเป็นความผิดของคนอื่น โดยที่ว่าท่านเองไม่ได้เป็นผู้ผิด การโกรธเคืองผู้ทำผิด ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเหมือนกัน เพราะเหตุว่าถ้าท่านโกรธคนอื่นที่ทำผิด ขณะที่โกรธนั้นเป็นความผิดของท่านเองแล้วที่ไปโกรธคนอื่น

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การที่จะพิจารณาโทษของตนเอง หรือการที่จะไม่สนใจในโทษของบุคคลอื่น ย่อมเป็นประโยชน์ เพราะเหตุว่าไม่ทำให้เกิดความขุ่นเคืองหรือความอาฆาตขึ้น เพราะฉะนั้น การที่จะคิดถึงคนอื่น คิดถึงการกระทำของคนอื่น หรือว่าพิจารณาการกระทำของคนอื่น ถ้าเป็นไปในทางที่จะให้กุศลจิตเกิด แทนที่จะพิจารณาในทางที่จะทำให้อกุศลจิตเกิด ย่อมเป็นประโยชน์กว่า เพราะเหตุว่าแต่ละคนมีจิตใจต่างกัน มีความประพฤติทางกาย ทางวาจาต่างกัน บางคนอาจจะชอบความประพฤติทางกาย ทางวาจาอย่างหนึ่ง ขณะที่คนอื่นอาจจะชอบอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะว่าแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย ที่จะให้ทุกคนชอบทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันหมด ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ข้อสำคัญที่สุด ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่า ท่านมีศัตรูหลายคน หรือว่าอาจจะมีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่าน หลายคน แต่ตามความเป็นจริงแล้ว  ข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ ความโกรธของท่านเอง

ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ก็เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ  แม้ความโกรธเกิดขึ้น  ปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา  ทุกขณะ มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะเป็นเครื่องขัดเกลาละคลายอกุศล  ขัดเกลาละคลายความไม่รู้  และ ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 14 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ