[คำที่ ๑๔๕] รตนตฺตย

 
Sudhipong.U
วันที่  5 มิ.ย. 2557
หมายเลข  32265
อ่าน  690

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ รตนตฺตย

คำว่า รตนตฺตย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ระ - ตะ -  นัด - ตะ - ยะ] มาจากคำว่า รตน (สิ่งที่ประเสริฐ มีค่าประมาณไม่ได้) กับคำว่า ติ ( ๓ ) [แปลง อิ ที่  ติ  เป็น เอ  แปลง เอ เป็น  อย   จึงเป็น  ตย  แล้วซ้อน ตฺ] รวมกันเป็น รตนตฺตย แปลว่า พระรัตนตรัย หรือ รัตนะ ๓ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ มีข้ออุปมาเปรียบเทียบมากมายถึงความเป็นรัตนะทั้ง ๓ ตามข้อความจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ดังนี้

“พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนแพทย์ผู้ฉลาด เพราะทรงสามารถกำจัดพยาธิคือกิเลสพร้อมทั้งอนุสัย (กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต)ออกได้, พระธรรม เปรียบเหมือนเภสัช (ยา) ที่ทรงปรุงถูกต้องแล้ว, พระสงฆ์ ผู้มีพยาธิ คือ กิเลสและอนุสัยอันระงับแล้ว เปรียบเหมือนหมู่ชนที่พยาธิระงับแล้ว เพราะได้ใช้เภสัช พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ทาง พระธรรมเปรียบเหมือนทางดีหรือพื้นที่ที่ปลอดภัย พระสงฆ์เปรียบเหมือนผู้เดินทางถึงที่ที่ปลอดภัย พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนนายเรือที่ดี พระธรรมเปรียบเหมือนเรือ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้เดินทางถึงฝั่ง”


พระรัตนตรัย หมายถึง รัตนะที่ประเสริฐ ๓ ประการ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและ พระอริยสงฆ์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นรัตนะ  เพราะทำให้สัตว์โลกได้เกิดปัญญาความเข้าใจที่ถูกต้อง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นรัตนะ เพราะทำให้ผู้ที่ได้ฟัง มีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ได้เข้าใจความจริงจนกระทั่งประจักษ์แจ้งความจริงตามที่ได้ฟังจนถึงความเป็นพระสังฆรัตนะ คือ สาวกผู้ที่ได้ฟังพระธรรมและดับกิเลสได้ตามพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกเพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง พระองค์ทรงปฏิบัติเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย  ด้วยการแสดงพระธรรม ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา แห่งการประกาศพระธรรมคำสอนของพระองค์หลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้ มีผู้ที่ได้รู้แจ้งธรรมหมดจดจากกิเลส เป็นผู้ปราศจากกิเลส เป็นจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งไม่มีบุคคลใดจะเป็นเหมือนอย่างพระองค์ได้

พระรัตนตรัย  ซึ่งหมายความถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม และ พระอริยสงฆ์ นั้น เป็นคำที่แม้บุคคลในครั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ก็รู้สึกว่าเป็นคำที่ยากยิ่งที่จะได้ฟัง เพราะว่าไม่ใช่ผู้เผินที่เพียงแต่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็เก็บแต่เพียงคำว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยยังไม่เห็นพระคุณที่แท้จริงที่จะได้พระนามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงความจริงกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ในฐานะไหน มีอาชีพอะไรก็ตาม ที่เกิดมาในโลกนี้แล้วก็จะพ้นความทุกข์กาย และ ทุกข์ใจได้  ไม่ใช่ด้วยความคิดของตัวเอง แต่เป็นผู้ที่กล่าวว่า มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อคำกล่าวด้วย และพระรัตนตรัยที่จะเป็นที่พึ่งได้ ไม่ใช่พึ่งให้เรารอดชีวิตหรือว่ารอดจากกรรมชั่วที่ได้ทำแล้ว แต่เป็นผู้ที่มีความเข้าใจถูก เข้าใจในการที่เกิดมาจากไม่เคยเป็นคนนี้มาก่อนแล้วก็เกิดมาเป็นคนนี้ แต่ละหนึ่ง แล้วก็อีกไม่นาน ทุกคนก็จะหายไปจากโลกนี้ ใครจะไปก่อน ใครจะไปทีหลัง ช้าหรือเร็วนั้น อีกเรื่องหนึ่ง จากไม่เคยเป็นคนนี้ แล้วก็มาเป็นคนนี้ แล้วก็จะหมดสิ้นการเป็นบุคคลนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด แต่ระหว่างที่ยังเป็นบุคคลนี้อยู่ ยังไม่ได้หายไปจากโลกนี้ ทำอะไร?  นี้คือสิ่งที่จะต้องพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุและผล ก็จะรู้ได้ว่าสิ่งที่มีจริง  ๒ อย่าง คือ ความจริงที่เป็นความดี อย่างหนึ่ง และความจริงที่เป็นฝ่ายตรงกันข้าม คือ ความชั่วอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถ้าไม่มีการฟังให้เข้าใจในเหตุผล ก็ยากที่จะพ้นจากความชั่ว    เพราะเหตุว่า เกิดมาด้วยความไม่รู้และสะสมกิเลสมาอย่างมากมาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะวินิจฉัย ไตร่ตรองด้วยตัวเองว่า ความชั่วมีอะไรบ้างและความดีมีอะไรบ้าง แต่เมื่อได้ฟังพระธรรม มีพระธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว ทำให้ไม่ลืมว่า พระธรรมทำให้มีความเข้าใจถูกต้องในชีวิตที่เกิดมาแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็เป็นไปตามการสะสม ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ แต่โอกาสที่จะได้รู้จักและมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นโอกาสที่หายาก   

ถ้าหากไม่มีการตรัสรู้และไม่มีการแสดงพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีใครสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏในชีวิตประจำวันได้  ไม่สามารถมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้ เพราะฉะนั้น การมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา และปัญญานี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อยๆ อบรมความเข้าใจพระธรรม ค่อยๆ ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคนว่า จะต้องเป็นผู้มีความจริงใจในการเจริญกุศลที่จะดับกิเลส โดยเริ่มจากความจริงใจที่มีต่อพระรัตนตรัย และจะต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ที่จะพิจารณาว่า ตนเองมีความเคารพนับถือเลื่อมใสในพระรัตนตรัยอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม ที่สำคัญที่สุดแล้ว คือ น้อมบูชาพระรัตนตรัย มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ด้วยการประพฤติตนเป็นคนดียิ่งขึ้น พร้อมกับอบรมเจริญปัญญา ไม่ละเลยโอกาสสำคัญที่จะทำให้ตนเองได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก  ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจต่อไป.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ