[คำที่ ๑๔๖] นาม

 
Sudhipong.U
วันที่  12 มิ.ย. 2557
หมายเลข  32266
อ่าน  404

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “นาม”

คำว่า นาม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า นา - มะ มีความหมาย ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่ง หมายถึง ชื่อ และ อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง สภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ ได้แก่ สภาพธรรมที่เป็นจิตและเจตสิก ซึ่งเมื่อเกิดเมื่อใด ก็ต้องรู้อารมณ์ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เช่น เมื่อจิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็ต้องรู้อารมณ์ คือ รู้สี, ข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงถึงความหมายของนาม ไว้ว่า

“ขันธ์ ๔ (เวทนา  สัญญา  สังขาร วิญญาณ) ชื่อว่า นาม, จริงอยู่ ขันธ์ ๔ เหล่านั้น น้อมไปมุ่งเฉพาะต่ออารมณ์, นาม แม้ทั้งหมด ชื่อว่า นาม ด้วยอรรถว่าน้อมไป เพราะขันธ์ ๔  ย่อมยังกันและกันให้น้อมไปในอารมณ์”


ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ นั้น มี ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมที่เป็นนามธรรม และสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม นามธรรม ยังแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ นามธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ หรือเป็นธรรมที่รู้อารมณ์ ได้แก่จิตและเจตสิก และนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง  เป็นนามธรรมที่ไม่รู้อารมณ์  แต่เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต(มรรคจิต  และผลจิต) ได้ คือ พระนิพพาน ส่วนรูปธรรม นั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ ไม่ใช่สภาพรู้  ไม่ใช่ธาตุรู้ ตัวอย่างของรูปธรรม เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น 

นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เช่น เห็น กำลังกระทำกิจเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่ก็ไม่เข้าใจเลยว่า สภาพธรรมที่กำลังกระทำกิจเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ต้องเรียกชื่ออะไรก็ได้ เพราะเป็นลักษณะของปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นกระทำกิจเห็น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล แต่ก็ติดชื่อ ว่านามธรรมที่เห็นนี้เป็น “นามธรรม” ยังต้องใส่ชื่อลงอีก คล้ายๆ กับว่า ถ้าไม่ใส่ชื่อว่า “นามธรรม” แล้วจะไม่เข้าใจ แต่ที่จริงแล้ว ชื่อปิดบังลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า แม้ไม่ต้องใช้คำว่า “นามธรรม” แต่ก็หมายความถึงสภาพธรรมที่กำลังเห็น คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติคำว่า “นามธรรม” นี้ ก็เพื่อที่จะให้เข้าใจอรรถ คือ ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งรู้อารมณ์ เพราะความหมายของคำว่า “นาม หรือ นามธรรม” ก็คือ สภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ เช่นในขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตากำลังปรากฏ กำลังถูกรู้ เพราะฉะนั้น ก็มีสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือ น้อมไปสู่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ดังนั้น สภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติคำ เพื่อที่จะให้เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้น โดยใช้คำว่า “นาม” หรือ  “นามธรรม” หมายถึงสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์        

ถ้าในขณะที่กำลังได้ยินเสียง นามธรรมกำลังน้อมไปสู่เสียงที่กำลังปรากฏ เสียงไม่ใช่ได้ยิน, เสียงเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏกับสภาพธรรมที่น้อมไปสู่ลักษณะของเสียง คือ รู้เสียงที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าใครติดชื่อ ต้องนึก ต้องท่อง ต้องกล่าวว่า ได้ยินเป็นนาม หรือได้ยินเป็นนามธรรม ในขณะนั้นไม่ใช่การพิจารณาที่จะน้อมไปสู่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน 

ขณะที่ร่างกายส่วนหนึ่งส่วนใดมีสภาพธรรมปรากฏลักษณะที่เป็นเย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่น้อมไปสู่อารมณ์ คือ กำลังรู้ลักษณะที่เย็น หรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมซึ่งแม้จะไม่ใช้คำว่า นาม หรือนามธรรม สภาพธรรมนั้นก็มีจริง และไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนด้วย เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

ถ้ายังติดชื่ออยู่ ก็ยากที่จะเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน การฟังพระธรรม  ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา จึงต้องเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องเป็นเรื่องที่เข้าใจลักษณะของการติดข้อง ว่ามีการติดข้องนอกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สภาพธรรมที่กระทบทางกาย) แล้ว ก็ยังมีการติดข้องแม้ในชื่อ แต่ให้ทราบว่า แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงชื่อทั้งหมดในขณะที่กำลังคิด

ขณะที่กำลังเห็นทางตา ไม่มีชื่อปรากฏในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่เวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วเกิดการนึกคิด ก็จะมีชื่อ ไม่ว่าจะเป็นชื่อวัตถุสิ่งของสิ่งอำนวยความสะดวกความสบายให้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงเป็นชื่อของสัตว์ ของบุคคลต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญารู้ลักษณะของความคิดนึกว่า แท้ที่จริงแล้ว ชื่อเป็นแต่เพียงสิ่งซึ่งสมมติ แล้วก็จะเป็นอารมณ์ คือ เป็นสิ่งที่จิตเกิดคิดนึกขึ้นเท่านั้นเอง ตามความเป็นจริงแล้ว มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ซึ่งในขณะนั้น ชื่อไม่ได้ปรากฏด้วยเลย

ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งมีจริง เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ชื่อ แต่ชื่อต่างๆ นี้ จะเกิดมีขึ้นเฉพาะในขณะที่เกิดคิดนึกเป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะฉะนั้น ถ้าอบรมเจริญปัญญาจริงๆ รู้ว่า ชื่อต่างๆ ที่เป็นชื่อของบุคคลต่างๆ สัตว์ต่างๆ  สิ่งของต่างๆ นั้น ชั่วขณะที่กำลังคิดนึกเท่านั้น

เพราะฉะนั้น “ชื่อ” เป็นแต่เพียงสิ่งที่จิตคิดนึกถึง แต่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย การอบรมเจริญปัญญาจะทำให้รู้ชัดตามความเป็นจริงในลักษณะของปรมัตถธรรม และไม่เข้าใจผิดในสมมติบัญญัติหรือชื่อต่างๆ ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงๆ จึงสำคัญที่มีการมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเครื่องป้องกันให้พ้นจากความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ