อานิสงส์การให้ทาน [ทานานิสังสสูตร]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ 82
๕. ทานานิสังสสูตร
ว่าด้วยอานิสงส์การให้ทาน ๕ ประการ
[๓๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้ ๕
ประการเป็นไฉน คือ
ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑
สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑
กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อนขจรทั่วไป ๑
ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑
ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้แล
ผู้ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
ชื่อว่าดำเนินตามธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบ ผู้สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมคบหา ผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรม เป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบชัด แล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ ปรินิพพานในโลกนี้
จบทานานิสังสสูตรที่ ๕
การให้ทานจะมีอานิสงส์มากหรือน้อย ชึ้นอยู่กับผู้รับมีศีล หรือทุศีล และเจตนาของผู้ให้ คือ ก่อนให้ก็ยินดี กำลังให้ก็ยินดี หลังจากให้แล้วคิดถึงทานที่ให้ก็ยินดี
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 80
ข้อความบางตอนจากสีหสูตร
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็น
ที่รักของชนเป็นอันมาก ชนเป็นอันมาก
ย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้
เกียรติ มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขิน
แกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน เพราะเหตุ
นี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ
ความตระหนี่แล้วให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้น
ย่อมประดิษฐานในไตรทิพย์ ถึงความเป็น
สหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาลนาน
บัณฑิตเหล่านั้นได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำ
กุศลแล้ว จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมี
เปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปในอุทยานชื่อ นันทนวัน ย่อมเพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เพลิดเพลินรื่นเริง บันเทิงใจ อยู่ในนันทน- วัน สาวกทั้งปวงของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของพระองค์แล้ว
ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ.
จบสีหสูตรที่ ๔
ศีล 5 จัดเป็นมหาทาน
เพราะขณะที่วิรัติทุจริต เช่น ศีลข้อแรก ก็เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์อื่น เป็นต้น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 60
ข้อความบางตอนจาก สุมนสูตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ดูก่อนสุมนา ผู้ที่ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้. สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้ว มาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกันพึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ. พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสอง มีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศและอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์ ดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้. สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้น ออกบวช แต่คนทั้งสอง นั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ. พ. ดูก่อนสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรมวจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อยย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อยดูก่อนสุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมีข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต. พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต.