[คำที่ ๑๕๒] ปุญฺญกิริยาวตฺถุ

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ก.ค. 2557
หมายเลข  32272
อ่าน  422

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปุญฺญกิริยาวตฺถุ

คำว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปุน - ยะ - กิ -ริ -ยา - วัด - ถุ] มาจากคำ ๓ คำรวมกัน คือ คำว่า ปุญฺญ (บุญ, สภาพธรรมที่ชำระจิตใจให้สะอาด) กิริยา (ทำ) และคำว่า  วตฺถุ (ที่ตั้ง) แปลรวมกันได้ว่า ที่ตั้งแห่งการทำบุญ ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพจิตที่ดีงาม เป็นกุศล เป็นไปในความดีประการต่างๆ ตามข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน) ศีลมัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญสำเร็จด้วยศีล) ภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญสำเร็จด้วยภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แล บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ


ในชีวิตประจำวัน กุศลจิตกับกุศจิตก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนแล้ว กุศลจิตย่อมเกิดมากกว่า จะเห็นได้ว่ากุศลจิตเกิดน้อยมากจริงๆ, ในเรื่องของกุศล ไม่ได้จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่าสภาพจิตที่ดีงามนั้นย่อมเป็นไปในทาน การสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าไม่มีวัตถุที่จะให้ ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ให้เมื่อตนเองพร้อม เพราะว่าทานไม่ได้มีเฉพาะวัตถุทานเท่านั้น ยังมีอภัยทาน คือไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธผู้อื่น ให้อภัยในความผิดที่ผู้อื่นได้กระทำ ก็เป็นทานเหมือนกัน   เป็นไปในศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม งดเว้นทุจริตประการต่างๆ และ ประพฤติสุจริตประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปทางกาย และ ทางวาจา ผู้ที่จะมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยที่ไม่มีการก้าวล่วงอีกเลยต้องเป็นพระโสดาบัน แต่ในฐานะที่เป็นปุถุชน ย่อมมีการล่วงศีลบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว แต่ก็สามารถที่จะเริ่มต้นขัดเกลาตัวเองใหม่ได้ ด้วยความตั้งใจจริงที่จะไม่ก้าวล่วงอีก เป็นไปในภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง    ภาวนานั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย การอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน   

จะเห็นได้ว่าอัธยาศัยในการเจริญกุศลของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันออกไป บางคนมีอัธยาศัยในการให้ทาน บางคนมีอัธยาศัยในการรักษาศีล และบางคนมีอัธยาศัยในภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) และควรที่จะพิจารณาว่า ทาน (การให้) การสงเคราะห์อนุเคราะห์บุคคลอื่น มีเป็นครั้งคราว ไม่สามารถให้ทานได้ตลอดเวลา เพราะกุศลขั้นทาน จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีวัตถุที่จะให้ มีศรัทธาที่จะให้ และจะต้องมีผู้รับด้วย ดังนั้น กุศลขั้นทานจึงไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา

ส่วน ศีล นั้น เป็นความประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ที่จะต้องมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากว่าบุคคลใด มีการสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น แต่ว่าไม่ได้ละเว้นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนทั้งด้วยกาย วาจา และใจแล้ว การให้ทานของผู้นั้นยังไม่สมบูรณ์ เพราะว่าการให้ที่สมบูรณ์นั้น ผู้ให้ จะต้องละเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วย

บุคคลผู้ที่รักษาศีลจนเป็นอุปนิสัย ผู้นั้นก็จะมีกาย วาจา ที่สะอาด ไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อนเลย ถึงแม้ว่าการให้ทานของบุคคลประเภทนี้จะมีน้อยกว่าบุคคลผู้มีอัธยาศัยในการให้ทานก็ตาม แต่กุศลที่ประเสริฐ เป็นไปเพื่อขัดเกลาความไม่รู้ ความเห็นผิดและกิเลสทั้งหลาย คือ ปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นได้ เจริญขึ้นได้ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง 

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วสำหรับบุคคลผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นโทษภัยของกุศล ก็ย่อมจะเป็นผู้เจริญกุศลทุกอย่างทุกประการ เท่าที่ตนมีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของกุศลประเภทใดก็ตาม กล่าวคือ ถ้าเป็นโอกาสของการให้ทานก็ให้ทาน สละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น, ถ้าเป็นโอกาสของการวิรัติงดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ ก็งดเว้น ซึ่งเป็นการรักษาศีล (รวมถึงกุศลประการอื่นๆ ที่สงเคราะห์ลงในศีลด้วย เช่น ความอ่อนน้อมถ่อมตน การขวนขวายกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น) และถ้าเป็นโอกาสของการอบรมเจริญปัญญา  ก็อบรมเจริญปัญญา เพิ่มพูนปัญญา ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองในพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองเท่านั้น เพราะผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ท่านจะไม่เว้นโอกาสของการเจริญกุศลเลย ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใด และเมื่อใดก็ตาม.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ