[คำที่ ๑๕๓] มิตฺตภ​าวะ

 
Sudhipong.U
วันที่  31 ก.ค. 2557
หมายเลข  32273
อ่าน  450

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มิตฺตภาว

คำว่า มิตฺตภาว เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มิด - ตะ - บา - วะ] มาจากคำว่า มิตฺต (มิตร,เพื่อน,หวังดี,ปรารถนาดี) กับ คำว่า ภาว (ความเป็น) แปลรวมกันได้ว่า ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ความเป็นผู้หวังดี ปรารถนาดีต่อผู้อื่น หรือ แปลทับศัพท์เป็น มิตรภาพ ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี คือ เมตตา ความเป็นมิตร  ความเป็นเพื่อน นั่นเอง ดังข้อความจาก ปรมัตถโชติก อรรถกถา ขุททกนิกาย  สุตตนิบาต รัตนสูตร ว่า   

“ขอท่านทั้งหลายจงเข้าไปตั้งเมตตา  คือ มิตรภาพ   ได้แก่   ความเป็นผู้มีอัธยาศัยเกื้อกูลในหมู่สัตว์ที่เป็นมนุษย์นั้น”

ลักษณะเป็นต้น ของเมตตา มีดังนี้ “เมตตามีความเป็นไปโดยอาการประพฤติเกื้อกูล เป็นลักษณะ มีการน้อมเข้าไปซึ่งประโยชน์เกื้อกูลในสัตว์ เป็นรสะ คือ เป็นกิจ มีการบำบัดความอาฆาต เป็นอาการปรากฏ มีการเห็นความที่สัตว์เป็นที่ชอบใจ คือ ไม่โกรธเคือง ไม่ขุ่นเคืองในขณะนั้น เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด มีการเข้าไปสงบพยาบาท เป็นสมบัติ (ความถึงพร้อม) มีการเกิดความสิเนหา (ความติดข้อง) เป็นวิบัติ”

(จาก  พระอภิธรรมปิฎก  ธัมมสังคณีปกรณ์)


เป็นความจริงที่ว่าเรื่องของจิตใจของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องที่ระวังยากจริงๆ เพราะเคยชินกับการที่จะเป็นอกุศล ทั้งโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เรื่องของกุศลซึ่งจะอบรมเจริญให้มีมากขึ้นได้ ก็จะต้องเป็นปัญญาที่ประกอบพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ ที่จะรู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นว่า เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะขณะใดที่มีความประพฤติเกื้อกูลจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความพอใจ หรือว่าด้วยความเป็นพวกพ้อง ในขณะนั้นเป็นลักษณะของเมตตา

เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด พิจารณาไตร่ตรองพระธรรมอย่างรอบคอบ จึงจะได้สาระจากพระธรรม ในชีวิตประจำวันสามารถที่จะอบรมเจริญเมตตาได้ เช่น ในขณะที่เห็นคนหนึ่งคนใด อาจจะเป็นคนแปลกหน้า อาจจะเป็นต่างชาติ ต่างภาษา แล้วรู้สึกอย่างไรในขณะนั้น มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร เห็นเพื่อน หรือเห็นศัตรู? ถ้าในขณะใดที่มีความรู้สึกเหมือนเห็นมิตร เห็นเพื่อน ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใคร ขณะนั้นเป็นอาการปรากฏของเมตตา เพราะเมตตามีการบำบัดความอาฆาต ความขุ่นเคืองใจหรือความไม่พอใจ เป็นอาการปรากฏ  

ถ้าคน ๒ คนกำลังโกรธกัน กำลังทะเลาะกัน ท่านก็เห็นเหตุการณ์นั้นด้วย ถ้าขณะนั้นท่านเป็นพวกคนหนึ่งคนใด นั่นไม่ใช่เมตตา แต่เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง แต่ถ้าสามารถจะมีความเป็นมิตรกับทั้ง ๒ คนที่กำลังโกรธกันได้ ไม่ว่าใครจะประพฤติดี หรือใครจะประพฤติชั่ว เวลาที่ท่านเห็นบุคคลที่ประพฤติชั่ว มีความรู้สึกเอ็นดู เมตตา สงเคราะห์ สามารถที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลกับบุคคลนั้นได้ นั่นคือลักษณะของผู้ที่มีเมตตาเกิดขึ้นในขณะนั้น     มิตรภาพ เกิดแล้วในขณะนั้น ไม่ใช่มีการเห็นว่าเป็นโทษ แล้วก็ขุ่นเคือง พร้อมทั้งซ้ำเติม ซึ่งเป็นการทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน นั่นไม่ใช่ลักษณะของเมตตา

บุคคลผู้ที่เป็นมิตรกับทุกคน มีความรู้สึกสนิทสนมด้วยความจริงใจ ก็ย่อมจะเป็นผู้มีกรุณา เวลาที่บุคคลทั้งหลายประสบความทุกข์เดือดร้อน แล้วย่อมเป็นผู้มีมุทิตา พลอยยินดีชื่นชมด้วยเวลาที่บุคคลอื่นประสบกับความสุขความเจริญหรือความสำเร็จ และถ้าไม่สามารถที่จะเกื้อกูลได้ หรือแม้ว่าจะได้ทำประโยชน์เกื้อกูลแล้วแต่ไม่สำเร็จ บุคคลนั้นก็ยังเป็นผู้ไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะรู้ว่าแล้วแต่เหตุปัจจัยหรือกรรมของบุคคลนั้น ก็สามารถที่จะอบรมเจริญอุเบกขา (ความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงไปด้วยอำนาจของอกุศล) ได้

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน  หรือ มิตรภาพ นั้น เป็นกุศลธรรมที่ควรอบเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองแล้วยังเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อบุคคลอื่นได้ด้วย และประการที่สำคัญ  เมตตา จะเป็นพื้นฐานให้กุศลธรรมประการอื่นพลอยเจริญขึ้นด้วย ซึ่งกุศลธรรมนี้เอง จะเป็นมิตรแท้  เป็นเพื่อนแท้ ที่คอยจะนำแต่ประโยชน์เกื้อกูลมาให้ ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้เลยแม้แต่น้อย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ