[คำที่ ๑๕๔] อปฺปมาทธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  7 ส.ค. 2557
หมายเลข  32274
อ่าน  937

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อปฺปมาทธมฺม”

คำว่า อปฺปมาทธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า  อับ - ปะ - มา - ทะ - ดำ-   มะ มาจากคำว่า (ไม่) ปมาท (ประมาท) ธมฺม (สิ่งที่มีจริง,ธรรม) แปลรวมกันได้ว่า ธรรม คือ ความไม่ประมาท หรือแปลทับศัทพ์เป็น อัปปมาทธรรม ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี มี สติ เป็นต้น เป็นธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นความไม่อยู่ปราศจากสติในกุศลธรรมทั้งหลาย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  มหานิทเทส ว่า บทว่า อปฺปมาโท คือ ความไม่อยู่ปราศจากสติ.

พระธรรมทุกส่วน ล้วนเกื้อกูลต่อความไม่ประมาท เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงช้อนฝุ่นเล็กน้อย ไว้ที่ปลายพระนขา(ปลายเล็บ)  แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ฝุ่นเล็กน้อยที่เราช้อนขึ้นไว้ที่ปลายเล็บนี้ กับ มหาปฐพีนี้ อย่างไหนมากกว่ากัน?

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มหาปฐพีนั่นแหละ มากกว่า ฝุ่นเล็กน้อยที่พระผู้มีพระภาคทรงช้อนขึ้นไว้ ที่ปลายพระนขานี้  มีประมาณน้อย ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการนับ ย่อมไม่ถึงแม้ซึ่งการเทียบเคียง ย่อมไม่ถึงซึ่งแม้ซึ่งส่วนแห่งเสี้ยว เพราะเทียบมหาปฐพีเข้าแล้ว ฝุ่นที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงช้อนขึ้นไว้ที่ปลายพระนขา มีประมาณเล็กน้อย”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์กลับมาเกิดในหมู่มนุษย์ มีประมาณน้อย สัตว์ไปเกิดในกำเนิดอื่น จากมนุษย์ มีมากกว่ามากทีเดียว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษา อย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ไม่ประมาท ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย พึงศึกษาอย่างนี้แหละ”

(จาก  พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย  นิทานวรรค  นขสิขสูตร)


 ขณะใดที่ประมาท ขณะนั้นเป็นอกุศล ขณะใดที่ไม่ประมาท ขณะนั้นเป็นกุศล พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงอุปการะเกื้อกูลเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอย่างแท้จริง ขณะนี้ทุกคนได้เกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ในสุคติภูมิ พ้นจากการเกิดในอบายภูมิแล้วในขณะนี้  แต่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้วจะไปเกิดในภพภูมิใดย่อมไม่แน่ ขึ้นอยู่กับกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นสำคัญว่ากรรมใดจะให้ผลนำเกิด อาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งไปเกิดได้ง่ายมากทีเดียวสำหรับอบายภูมิ, ส่วนมากแล้วมักจะกลัวการไปเกิดในอบายภูมิ  ซึ่งเป็นการกลัวผล แต่ว่าเหตุจริงๆ ไม่ค่อยกลัว นั่นก็คือ กุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง แม้ในวันนี้เองก็ไม่ทราบว่ามากเท่าใดแล้ว การอบรมเจริญปัญญา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมกำลังปรากฏ  เมื่อปัญญาถึงพร้อมก็ทำให้ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคล เมื่อนั้นก็ไม่ไปเกิดในอบายภูมิอีกเลย คือไม่เกิดเป็นสัตว์นรก  ไม่เกิดเป็นเปรต ไม่เกิดเป็นอสุรกาย ไม่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน, ตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสที่มีมากๆ ทุกวัน ก็จะมีกำลังที่จะทำให้เกิดกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต ที่จะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้ เพราะเหตุว่ากิเลสยังไม่ได้ดับหมดไป กิเลสมีมาก แต่สติ ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดี มีน้อย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนเพื่อให้พุทธบริษัทเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อยู่เสมอ มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ คือ  ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติตามพระธรรมไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน

จะเห็นได้ว่า พระองค์ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะพร่ำเตือนพุทธบริษัทให้เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย ถ้ายังมีกิเลสอยู่ตราบใด ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลแล้ว การที่จะไปสู่กำเนิดอื่นนั้น มากกว่าการที่จะกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ มากทีเดียว ข้ออุปมาระหว่างฝุ่นที่ปลายเล็บ  กับพื้นมหาปฐพี  เห็นได้ชัดเจนทีเดียว แต่ละบุคคลก็เห็นฝุ่นที่เล็บอยู่ทุกวัน แต่ไม่มีใครเตือนให้ได้คิด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงละเว้นโอกาส แม้แต่การที่จะให้ระลึกได้ว่าฝุ่นที่เล็บนี้ ยังน้อยกว่าที่พื้นมหาปฐพี เหมือนกับวันหนึ่งๆ นี้ กุศล กับ กิเลส  อย่างไหนจะเกิดมากกว่ากัน? กิเลส  เกิดมากกว่ากว่ากุศล อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

ถ้ายังไม่พากเพียรที่จะเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด ก็ไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้พ้นจากอบายภูมิได้ แต่ถ้าศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมอยู่บ่อยๆ เนืองๆ สติปัญญาก็จะเกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ทันที ก็ย่อมมีโอกาสที่จะไปถึงซึ่งการพ้นจากการเกิดในอบายภูมิได้             

เพราะฉะนั้น จึงแสดงให้เห็นว่า พระธรรมที่ได้ฟังได้ศึกษาไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็ตาม กล่าวคือ จากพระวินัยปิฎก ก็ดี จากพระสุตตันตปิฎก ก็ดี จากพระอภิธรรมปิฎก ก็ดี ก็จะเห็นได้ถึงพระมหากรุณาคุณอย่างยิ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงเกื้อกูลพุทธบริษัททุกโอกาส แม้แต่ธรรมปลีกย่อย เล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นพระโอวาทที่ทรงพร่ำเตือนเพื่อที่จะให้พุทธบริษัทเจริญกุศล เป็นผู้ที่ไม่ประมาททั้งสิ้น ซึ่งควรที่จะได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง.  

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ