[คำที่ ๑๕๖] โทมนสฺส‏

 
Sudhipong.U
วันที่  21 ส.ค. 2557
หมายเลข  32276
อ่าน  633

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "โทมนสฺส"

คำว่า โทมนสฺส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โท - มะ - นัด - สะ มีรากศัพท์มาจากคำ ๒ คำ รวมกัน คือ คำว่า ทุ (เสีย,ไม่ดี) กับคำว่า  มน (ใจ) แปลง อุ เป็น โอ สฺส มาจาก ภาว  (ความเป็น) จึงรวมกันเป็น โทมนสฺส] เขียนเป็นไทยได้ว่า โทมนัส แปลว่า  ความเป็นผู้มีทุกข์ใจ ความทุกข์ทางใจ ความเสียใจ ตามข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย  มหานิทเทส ว่า

“ ความทุกข์ทางใจ มีลักษณะบีบคั้นใจ ชื่อว่า โทมนัส”

ตัวอย่างลักษณะของบุคคลผู้ถูกความทุกข์ทางใจครอบงำ  มีดังนี้    

“บุคคลผู้เต็มไปด้วยทุกข์ทางใจ ย่อมสยายผม ย่อมขยี้อก ย่อมกลิ้งเกลือกไปมา ย่อมโดดเหว ย่อมนำศัสตรามา ย่อมเคี้ยวยาพิษ ย่อมเอาเชือกแควนคอ ย่อมเข้าไปสู่กองไฟ เป็นผู้มีความเดือดร้อน โดยประการ นั้นๆ เป็นผู้มีจิตรุ่มร้อนอยู่ ย่อมคิดถึงเรื่องวิปริตนั้นๆ”                    

(จาก  สัมโมหวิโนทนี  อรรถกถา  พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์)


ตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ยังเป็นผู้ไม่พ้นจากทุกข์ใจ เสียใจ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุ คือ กิเลส เพราะยังมีกิเลส จึงยังไม่พ้นจากทุกข์ใจ ซึ่งเป็นกิเลสทุกข์ กล่าวคือ ทุกข์เพราะกิเลส เช่น ทุกข์เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ทุกข์เกิดจากการพบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจ เป็นต้น เมื่อประสบกับสิ่งดังกล่าว ผู้ที่ยังดับโทสะยังไม่ได้ ก็ย่อมเกิดความทุกข์ใจ มีความประพฤติเป็นไปในลักษณะต่างๆ เป็นอกุศลจิตประเภทโทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) มีโทมนัสเวทนา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจเกิดร่วมด้วย  

เพราะยังมีกิเลสนี้เอง จึงฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เพราะสามารถนำออกไปจากทุกข์ทั้งปวงได้จริง นำมาซึ่งประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า และประโยชน์อย่างยิ่ง คือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ประจักษ์แจ้งพระนิพพานดับกิเลสถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ

ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ ความเข้าใจพระธรรม ผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของความเข้าใจพระธรรม จึงฟังพระธรรมด้วยความตั้งใจเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามพระธรรม บุคคลผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมเป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ขาดการฟัง ย่อมเป็นเหตุให้ความเข้าใจเจริญขึ้น ขณะที่เกิดความเข้าใจ นั้น ย่อมไม่ทุกข์ใจ เพราะในขณะนั้นจิตเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ขณะนั้นอกุศลเกิดไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง รู้ว่าสิ่งใดควรกระทำ สิ่งใดควรเว้น อะไรเป็นประโยชน์ อะไรเป็นโทษ แล้วกระทำสิ่งที่ควรกระทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น ย่อมจะทำให้เป็นผู้อยู่เป็นสุขตามสมควร ดำเนินชีวิตเป็นไปในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่าชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมหรือศึกษาแต่ศึกษาผิด ปฏิบัติผิด  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลยังเกิดขึ้นได้ตามเหตุปัจจัย จนกว่าจะมีปัญญาเจริญขึ้นจนถึงขั้นที่สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ ทุกข์ก็จะเบาบางลงไปตามลำดับ กว่าจะถึงตรงนั้นได้ ก็ต้องได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ