[คำที่ ๑๕๗] ภาวนาธิฏฺฐานชีวิตํ‏

 
Sudhipong.U
วันที่  28 ส.ค. 2557
หมายเลข  32277
อ่าน  800

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ภาวนาธิฏฺฐานชีวิตํ”

คำว่า ภาวนาธิฏฺฐานชีวิตํ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง มาจากคำ ๓ คำรวมกัน คือ ภาวนา (การอบรมเจริญปัญญา) อธิฏฺฐาน (ความตั้งมั่น ความตั้งใจมั่น ความมั่นคง) และ ชีวิตํ (ชีวิต หรือ ความเป็นอยู่) จึงรวมกันเป็น ภาวนาธิฏฺฐานชีวิตํ [อ่านตามภาษาบาลีว่า บา -วะ - นา - ทิด - ถา - นะ - ชี - วิ - ตัง] เขียนเป็นไทยได้ว่า ภาวนาธิษฐานชีวิตัง แปลรวมกันได้ว่า "มีชีวิตอยู่ด้วยความมั่นคงในการที่จะอบรมเจริญปัญญา หรือ มีชีวิตที่มั่นคงในการอบรมเจริญปัญญา" การที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบจริงๆ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าความเข้าใจถูกเห็นถูกจะถึงความสมบูรณ์พร้อมได้ในที่สุด ดังข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท และอรรถกถา ว่า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระคาถานี้ว่า บัณฑิตทั้งหลาย ฟังธรรมแล้ว ย่อมผ่องใส เหมือนห้วงน้ำลึก ใสแจ๋ว ไม่ขุ่นมัว ฉะนั้น

ในอรรถกถา อธิบายไว้ ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำอธิบายนี้ไว้ว่า “ห้วงน้ำ นั้น ชื่อว่า ใสแจ๋ว เพราะเป็นน้ำไม่อากูล ชื่อว่า ไม่ขุ่นมัว เพราะเป็นน้ำไม่หวั่นไหว ฉันใด; บัณฑิตทั้งหลาย ฟังเทศนาธรรมของเราแล้ว ถึงความเป็นผู้มีจิตปราศจากอุปกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) ด้วยสามารถแห่งมรรคมีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ชื่อว่า ย่อมผ่องใส ฉันนั้น ส่วนท่านผู้บรรลุพระอรหัตต์ (ความเป็นพระอรหันต์) แล้ว ย่อมเป็นผู้ผ่องใส โดยส่วนเดียวแล


ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีเวลาไม่มากที่จะได้ฟังพระธรรม เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชีวิตก็เป็นไปในเรื่องอื่น เป็นไปกับด้วยกุศลอย่างมาก ซึ่งเมื่อเทียบกับการได้ฟังพระธรรม ก็จะรู้ได้ว่าในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานจนถึง ณ บัดนี้และต่อไป เวลาที่จะได้มีโอกาสฟังพระธรรม พิจารณาพระธรรมจริงๆ และเริ่มเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น ก็ไม่มากเลย จึงเป็นโอกาสสำหรับพุทธบริษัทที่จะได้ฟังพระธรรม เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น, สะสมความไม่รู้มานานมาก ขณะนี้มีการฟังที่เริ่มฟังแล้ว ซึ่งจะต้องเคยฟังมาแล้วก่อนๆ นี้หลายชาติ แต่ถ้าเทียบกับความไม่รู้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่า ความรู้ น้อยมาก เช่นขณะนี้ ฟังแค่นี้ แต่ว่าที่ไม่ได้ฟังเมื่อเช้านี้ ความไม่รู้เท่าใด แล้วที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมเมื่อเช้านี้อีกเท่าใด ความไม่รู้ มีมากจริงๆ

ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมทั้งหมด เพื่อละ ไม่ใช่เพื่ออยาก แม้แต่การเริ่มต้น คือ เริ่มต้นที่ถูก เริ่มละความไม่รู้ เพราะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะมีความเข้าใจเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วในทันทีทันใด จึงต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อย และความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนี้เอง สามารถที่จะถึงกาลที่จะดับกิเลสทั้งหมด ไม่เกิดอีกเลยได้

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ฟังนิดหน่อย แล้วก็เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แล้วก็อยากถึงนิพพาน หรือว่า อยากหมดกิเลส เพราะถ้าอยาก โลภะก็มาอีกแล้ว เป็นเรื่องติดโดยตลอด ถ้าไม่มีการรู้จักธรรมที่กำลังปรากฏเลย แล้วหวังว่าจะละกิเลส เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้แต่ความอยากที่จะละกิเลส โดยไม่รู้อะไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ จะตรงกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ภาวนาธิษฐานชีวิตตัง หมายความว่า ภาวนา คือ การอบรม ถ้าไม่มีปัญญาเลย แม้เพียงฟังก็ไม่ฟัง แล้วจะอบรมอะไร เพราะว่าแต่ละคนเกิดมาแล้ว อวิชชาเป็นสภาพที่เหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ลองนึกถึงคนที่เกิดมาตาบอด จะไม่เห็นอะไรเลย ไม่สามารถเดินไปตามหนทางที่ถูกต้องได้จนตลอดชีวิต แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังธรรมแล้ว มีความเข้าใจเห็นหนทางที่จะละความไม่รู้ แต่ยังไปไม่ถึงการหมดกิเลส เพราะว่ากิเลสสะสมมามากมายเหลือเกิน ก็จะต้องอาศัยพระธรรม คอยชำระล้างขัดเกลาไปทีละเล็กทีละน้อย

ภาวนา คือ การอบรมความเข้าใจที่เกิดจากการฟังให้มั่นคงขึ้น อธิษฐานะ คือ มั่นคง ให้มีความเข้าใจจริงๆ แม้จะเพียงเล็กๆ น้อยๆ ในเบื้องต้น แต่ความเข้าใจไม่เปลี่ยน เหมือนกับการเริ่มเห็นหนทาง แล้วก็ค่อยๆ เดินไปตามหนทางนั้น จนกว่าจะรู้ว่าเป็นหนทางที่ทำให้พ้นจากความไม่รู้ เพราะเหตุว่าความมืด คือ อวิชชาเหมือนคนตาบอดแต่กำเนิด ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนในชีวิต แต่เมื่อเกิดมาแล้วได้ยินได้ฟัง พระธรรมอบรมมั่นคงจนกระทั่งเป็น ภาวนาธิษฐานชีวิตตัง ชีวิตที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ก็จะเป็นไปตามกำลังของปัญญาที่จะละทุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ แม้ว่าจะมีโลภะที่จะต้องเลี้ยงชีพ มีสิ่งที่จะต้องกระทำเพื่อความดำรงอยู่ของชีวิต แต่ก็เป็นไปในทางที่สุจริตไม่ผิดทาง หรือว่าไม่เป็นไปในทางมิจฉาอาชีวะ แม้การแสวงหาก็แสวงหาในโดยชอบธรรม ไม่กระทำทุจริตกรรม มั่นคงขึ้นอย่างนี้ตลอดไปเรื่อยๆ ปัญญาจึงจะค่อยๆ เจริญขึ้นได้ เพราะมีความเข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

เพราะฉะนั้น ก็จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการสะสมปัญญา ปัญญา จึงจะเจริญขึ้นได้ โดยที่ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ต่อไป เพราะเหตุว่าสะสมอวิชชามามากและนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ก็จะต้องสะสมปัญญามากทีเดียวกว่าจะสามารถขัดเกลาความไม่รู้และดับจนหมดสิ้นได้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะปรุงแต่งให้มีความประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจา และทางใจ มีความสะอาดทางกาย ทางวาจาและทางใจ คล้อยตามความเข้าใจที่เจริญขึ้นอย่างแท้จริง



อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nataya
วันที่ 19 ก.ย. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
สิริพรรณ
วันที่ 26 ก.ย. 2566

กราบอนุโมทนายินดีในกุศลธรรมทานค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ