[คำที่ ๑๖๒] ปฏิปตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  2 ต.ค. 2557
หมายเลข  32282
อ่าน  1,043

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปฏิปตฺติ

คำว่า ปฏิปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ติ - ปัด - ติ] มาจากคำว่า ปฏิ (เฉพาะ) กับคำว่า  ปตฺติ (ถึง) รวมกันเป็น ปฏิปตฺติ แปลรวมกันได้ว่า การถึงเฉพาะ โดยความหมายแล้ว มุ่งหมายถึง สัมมาปฏิบัติ คือ การปฏิบัติชอบ การปฏิบัติถูกต้อง  ได้แก่ขณะที่สภาพธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจของตน เป็นไปในกุศลขั้นต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นวิปัสสนาภาวนา หมายถึง ขณะที่สติและปัญญาเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม และรู้ความจริงว่าเป็นเพียงนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล  ไม่ใช่ตัวตนหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมด้วยสติและปัญญา ซึ่งไม่มีใครเป็นผู้ปฏิบัตินอกจากสติและปัญญาพร้อมด้วยธรรมฝ่ายดีที่เกิดร่วมด้วยทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของตนๆ, สำหรับผู้ที่น้อมประพฤติปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมได้ชื่อว่า บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่ง ด้วยความเป็นผู้น้อมประพฤติตามคำสอนที่พระองค์ทรงแสดง ตามข้อความจาก ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ มงคลสูตร ว่า 

“ดูกร อานนท์ ผู้ใดแล ไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกา เป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควร แก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม    ผู้นั้น ชื่อว่า สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง นอบน้อมตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยอดเยี่ยม”


เรื่องการอบรมเจริญปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องของความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด บางคนก็อาจจะมีความรู้สึกว่า อยากจะปฏิบัติเท่านั้น อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว จะไม่ฟังพระธรรม เพราะคิดว่าเรื่องปฏิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนการฟังพระธรรมนั้นไม่สำคัญ แต่ถ้าผู้ใดคิดอย่างนี้ ผู้นั้นจะปฏิบัติธรรมไม่ได้ เพราะเหตุว่าเมื่อไม่ฟังพระธรรม ก็ย่อมไม่เข้าใจพระธรรม เมื่อไม่เข้าใจแล้ว จะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร เพราะว่าในขณะนี้คือ ธรรมทั้งหมด ไม่ว่าทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูกที่ได้กลิ่น ทางลิ้นที่ลิ้มรส ทางกายที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจที่คิดนึก ก็เป็นธรรมทั้งหมด

ถ้าไม่ฟังพระธรรมซึ่งเป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ก็จะไม่มีความเข้าใจพอที่จะสติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะปฏิบัติโดยที่จะไม่ฟังพระธรรม ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย และสำหรับการฟังพระธรรม ก็จะต้องฟังไปจนกระทั่งเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องแล้ว การเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติเกิดระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติ เมื่อได้ฟังพระธรรมจนกระทั่งเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่ต้องคิดเลยว่าจะปฏิบัติ เพราะเหตุว่าแล้วแต่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เมื่อใด ขณะนั้นสติก็ปฏิบัติกิจของสติ เพราะว่าถ้าคิดที่จะปฏิบัติก็ยังเป็นตัวตน ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ในขณะที่คิดนั้นเป็นนามธรรมที่คิด ซึ่งเมื่อสติไม่ระลึก ก็ไม่สามารถที่จะขัดเกลาละคลายความเป็นตัวเราได้ แต่เมื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อนั้นก็ไม่ต้องคิดที่จะปฏิบัติ แล้วแต่สติจะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมขณะใด ก็ระลึกทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง ไปเรื่อยๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ซึ่งจะต้องเป็นจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าจะต้องคิดว่าจะปฏิบัติ

และสำหรับการที่จะดำเนินไปถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจการการศึกษาพระธรรมอย่างถูกต้อง นั้น เป็นเรื่องที่ไกลมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว ไม่มีหนทางที่จะแจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้เลย

เรื่องธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้  ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแล้ว เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมาก จนเป็นเหตุให้มีการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ อดทนที่จะฟังพระธรรมศึกษา   พระธรรมด้วยความละเอียดรอบคอบต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ