[คำที่ ๑๖๓] อุปนาหะ

 
Sudhipong.U
วันที่  9 ต.ค. 2557
หมายเลข  32283
อ่าน  797

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  อุปนาห

คำว่า อุปนาห เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  อุ - ปะ  -นา - หะ] แปลว่า ความผูกโกรธ ซึ่งเป็นคำที่กล่าวถึงความเป็นจริงของธรรม คือ ความโกรธที่เกิดขึ้นเป็นไปแล้วไม่ลืมที่จะโกรธ ยังโกรธอีก เป็นการผูกใจเจ็บ เป็นอกุศลธรรมที่ร้ายน่าเกลียดทีเดียว ตามข้อความจากปปัญจสูทนี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ธรรมทายาทสูตร ว่า

“อุปนาหะ มีลักษณะเฉพาะคือความผูกโกรธ มีหน้าที่คือไม่ยอมสลัดทิ้งการจองเวร (และ) ผลที่ปรากฏออกมาคือโกรธติดต่อเรื่อยไป” 


ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดได้กับทุกบุคคลเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย สำหรับผู้ที่ยังเป็นปุถุชนหนาแน่นไปด้วยกิเลส เวลาโกรธ ถ้าสติไม่เกิด ความไม่รู้สภาพธรรมก็ปิดบังว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่จะต้องโกรธ แต่บุคคลผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะเห็นโทษของความโกรธว่าเป็นกุศลธรรม ที่พึงละ ไม่ควรพอใจ ไม่ควรยินดีที่จะโกรธต่อไป เพราะความโกรธแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสะสมมากขึ้นก็อาจจะถึงขั้นผูกโกรธ    พยาบาท เกลียดชัง แค้นเคือง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดการประทุษร้าย ทางกาย หรือทางวาจาในภายหน้า ได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย

ผู้ที่มักโกรธและผูกโกรธ พิจารณาหรือเปล่าว่า เพราะอะไรในขณะนั้นจึงโกรธ โกรธความไม่ดีของคนอื่น ปักใจในความไม่ดีของคนอื่น แต่ลืมพิจารณาว่า ความไม่ดีของคนอื่นก็เกิดขึ้นและดับไปเพียงขณะหนึ่งๆ แต่ความผูกโกรธของท่านเองซึ่งปักใจในบุคคลนั้นเกิดนานเท่าใด มากกว่าอกุศล คือ ความไม่ดีของคนอื่นที่ทำให้ท่านยังคงปักใจโกรธอยู่หรือเปล่า หรือว่ายังไม่ลืมที่จะคิดถึงความไม่ดีนั้น แล้วก็ยังโกรธ ในขณะที่กำลังปักใจโกรธบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็คือคิดเอง ความคิดของตนเองจริงๆ ความที่ไม่ดีของบุคคลนั้นก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป แต่ว่าสำหรับคนที่โกรธความไม่ดีของคนอื่น ก็ยังคงเป็นอกุศลอยู่ และนานตราบเท่าที่ยังผูกโกรธไว้ ซึ่งขณะนั้นหิริ (ความละอายต่ออกุศล)โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล)ไม่เกิดเลย  เพราะเหตุว่าฝังใจแต่ในความไม่ดีของคนอื่น แต่ไม่ฉลาดที่จะรู้อกุศลของตนเอง ซึ่งกำลังโกรธในขณะนั้น

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ที่ใช้คำว่าผูกโกรธ ก็คือว่าโกรธแล้วไม่ลืม ความที่ไม่ลืม นั้น ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นไม่ใช่โกรธใหม่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่ไม่ลืม ขณะนั้นก็ใช้คำว่าผูกโกรธ คือยังโกรธอยู่ แล้วแต่ว่าความผูกโกรธแต่ละคนจะหนาจะมากจะคั่งแค้นถึงระดับไหน ความผูกโกรธเป็นธรรมที่มี จริงๆ ที่ควรจะได้รู้ว่า โกรธใครแล้วยังไม่ลืม ยังโกรธอยู่อีก นี้คือความผูกโกรธ

แต่ละคนไม่ควรที่จะลืม ว่า อีกไม่นานก็จะถึงชาติหน้า และชาติหน้าท่านอยากจะเป็นบุคคลประเภทไหน อยากจะมีกิเลสน้อยหรือว่าอยากจะมีกิเลสมาก ดูเหมือนว่าชาตินี้กิเลสมาก แต่ว่าชาติหน้าอยากมีกิเลสน้อย นั่น เหตุกับผลยังไม่ตรงกัน

ถ้าชาตินี้ไม่ขัดเกลากิเลส ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่ละคลาย ชาติหน้าก็จะเป็นผู้มีกิเลสน้อยไม่ได้ และสำหรับชาติหน้า ทุกคนก็จะเป็นบุคคลใหม่ ซึ่งจะไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ว่าถ้าใครสามารถที่จะมีปัญญาถึงขั้นที่จะรู้อดีตของชาติหน้า ซึ่งก็คือชาตินี้เอง  ชาติหน้าก็อาจจะคิดว่าชาติก่อนนั้นไม่ควรจะทำอย่างนี้เลย ไม่ควรจะผูกโกรธอย่างนั้น ไม่ควรจะกล่าววาจาไม่ดีอย่างนั้น แต่ว่าได้กระทำไปแล้ว

เพราะฉะนั้น ชาตินี้ยังเป็นโอกาสอยู่ ที่หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) จะเกิด แล้วก็ละคลายอกุศล เพื่อว่าชาติหน้าจะได้ไม่ย้อนกลับมาคิดว่า ชาติก่อนนี้ไม่ควรจะทำอกุศลอย่างนั้นๆ เลย

ดังนั้น  พระธรรมที่พระพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง  จึงเป็นเครื่องเตือนที่ดี  เป็นไปเพื่อประโยชน์โดยส่วนเดียว และควรอย่างยิ่งที่จะน้อมประพฤติตามด้วยความจริงใจ คุณความดีทุกอย่าง ควรอบรมเจริญให้เกิดมี แต่ถ้าเป็นอกุศล เช่น ความโกรธ ความผูกโกรธ เป็นต้น  แล้ว ก็ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะอกุศล ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก ก็มีแต่โทษโดยส่วนเดียว ทั้งหมดที่จะมีการขัดเกลาละคลายได้ ก็ต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจในความเป็นจริงของธรรมว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ