[คำที่ ๑๖๔] กมฺมทายาท

 
Sudhipong.U
วันที่  16 ต.ค. 2557
หมายเลข  32284
อ่าน  366

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กมฺมทายาท

คำว่า กมฺมทายาท เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  กำ  - มะ  ทา  - ยา  - ทะ] มาจากคำ ๒ คำรวมกัน คือ คำว่า  กมฺม (กรรม คือ เจตนาที่เป็นอกุศล กับ ที่เป็นกุศล) กับคำว่า ทายาท (ผู้รับเอา, ผู้ถือเอา) รวมกันเป็น กมฺมทายาท แปลว่า เป็นทายาทแห่งกรรม  กล่าวคือ เป็นผู้รับผลของกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้ว ตามข้อความจากมโนรถปูรณี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ฐานสูตร ว่า 

“บทว่า ตสฺส ทายาโท ภวิสฺสามิ แปลว่า เราเป็นทายาทของกรรมนั้น อธิบายว่า เราจักเป็นผู้รับผลที่กรรมนั้นให้”


กรรม คือ การกระทำ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เจตนา เมื่อกรรมได้กระทำสำเร็จแล้วย่อมรอส่งผลเมื่อได้โอกาส กรรมเป็นนามธรรมไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปร่างได้, ในอดีตชาติอันยาวนานที่ผ่านมาอย่างนับไม่ถ้วน รวมถึงชาติปัจจุบันนี้ด้วย เราได้กระทำทั้งกรรมดี และกรรมชั่วไว้มาก กรรมที่กระทำไปแล้วจึงมีมากมายทีเดียว ตามการสะสมของแต่ละบุคคล แต่กรรมใดจะให้ผลเมื่อไหร่ เราไม่สามารถจะรู้ได้ จึงกล่าวตามพระธรรมได้ว่า กรรม เป็นธรรมชาติที่ปกปิด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ขณะที่เห็น เป็นผลของกรรมแน่นอน แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นผลของกรรมอะไร ในชาติไหน หรือแม้แต่ขณะต่อไปจะเห็นอะไร ก็ไม่สามารถจะรู้ได้อีกเช่นเดียวกัน กรรมจึงเป็นสภาพที่ปกปิดอย่างนี้ การที่กรรมใดจะให้ผลนั้น จึงไม่อาจเลือกได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น  

ระหว่างกรรมดีกับกรรมชั่วนั้น มีความแตกต่างกัน ไม่ปะปนกัน เป็นคนละส่วนกัน ที่สำคัญผลของกรรมทั้งสองประเภทนี้ ก็ต่างกันด้วย ให้ผลไม่เหมือนกัน กล่าวคือ กรรมดี เป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ ให้ผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ แต่กรรมชั่ว ย่อมทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ   นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย    

บุคคลผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมจะเป็นผู้มีความเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลแต่ละคน    หรือแม้กระทั่งเกิดกับตัวเราเอง ไม่ว่าดีหรือร้าย น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนาก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพราะกรรมที่เคยได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น ไม่มีใครทำให้เลย ดังนั้น ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำมาแล้ว ผลที่จะเกิดย่อมมีไม่ได้ แต่เพราะมีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้โอกาสที่กรรมจะให้ผล ผลจึงเกิดขึ้น เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะทำให้หวั่นไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ น้อยลง รวมไปถึงจะไม่โทษคนอื่นด้วย   

ดังนั้น จึงพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า ถ้าไม่มีเหตุคือกรรมที่ได้กระทำแล้ว สิ่งนั้น สิ่งนี้ก็จะเกิดกับเราไม่ได้ หรือจะเกิดกับใครก็ไม่ได้ ซึ่งแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่ปะปนกัน ยกตัวอย่างเวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าว เราก็จะพบเห็นความทุกข์ของหลายบุคคล แต่ละชีวิต ประสบอุบัติเหตุบ้าง ถูกลอบปองร้ายบ้าง เป็นต้น ถ้าไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดอย่างนั้น เหตุการณ์อย่างนั้นก็เกิดไม่ได้      

ประการที่สำคัญเราจะไปให้กรรมกับคนอื่น หรือให้ผลกับคนอื่นก็ไม่ได้ คนอื่นจะให้กรรมกับเรา หรือให้ผลกับเราก็ไม่ได้ ทุกอย่างที่ได้เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล ก็เพราะเหตุที่ได้กระทำมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งจะต้องไม่ลืมว่า ทำกรรมใด ไว้  ดี หรือ ชั่ว เมื่อถึงกาลเวลาที่กรรมจะให้ผล ผลก็ต้องเกิดขึ้นเป็นไป ใครๆ ก็ยับยั้งไว้ไม่ได้ เป็นทายาทแห่งกรรมอย่างแน่นอน คือ เป็นผู้ที่จะได้รับผลของกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้แล้ว 

ดังนั้น เมื่อจะสะสมกรรมที่จะทำให้เกิดผลในภายหน้า ก็พึงกระทำกรรมอันงาม คือ ความดี เท่านั้น สิ่งที่ไม่ดีไม่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่บุคคลอื่น ไม่ควรที่จะสะสมให้มีมากขึ้น เพราะเหตุว่า สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้านั้น ก็คือ กุศลธรรม ความดีทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วปัญญาจะมาจากไหน ก็ต้องมาจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง อันเกิดจากพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์ ที่ควรค่าแก่การฟัง การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ