[คำที่ ๑๖๖] สมฺมาทิฏฺฐิ

 
Sudhipong.U
วันที่  30 ต.ค. 2557
หมายเลข  32286
อ่าน  495

ภาษาบาลี ๑  คำ  คติธรรมประจำสัปดาห์ "สมฺมาทิฏฐิ"

คำว่า สมฺมาทิฏฐิ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  สำ - มา - ทิด - ถิ] มาจากคำ ๒ คำรวมกัน คือ คำว่า สมฺมา (ถูก,ชอบ) กับคำว่า ทิฏฺฐิ (ความเห็น) แปลรวมกันได้ว่า ความเห็นถูก ความเห็นชอบ ว่าโดยสภาพธรรม ก็คือ เป็นเจตสิกธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ฝ่ายดีประการหนึ่ง คือ ปัญญาเจตสิก นั่นเอง แม้ว่าจะมีหลายพยัญชนะที่กล่าวถึงความเป็นจริงของปัญญา  ทั้งหมดนั้นก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก คล้อยตามอัธยาศัยของผู้ฟังเป็นสำคัญ, ความเห็นถูก เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลอย่างดียิ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้กุศลธรรมเจริญยิ่งขึ้น และทำให้อกุศลธรรมค่อยๆ ถูกขัดเกลา จนกระทั่งสามารถดับได้อย่างหมดสิ้น    ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ว่า  

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น  หรือ กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) นี้เลย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป


ในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เมื่อศึกษาแล้วจะพบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องของคติหรือภูมิที่เกิดของสัตว์โลกไว้มาก มีอบายภูมิ สุคติภูมิ เป็นต้น ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่าเป็นสิ่งที่แน่นอนที่สุด ว่า ทุกคนจะต้องจากโลกนี้ไป แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ จะไปไหน? การประพฤติปฏิบัติของแต่ละบุคคลเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ก็ย่อมจะเป็นเครื่องแสดงถึงคติที่ไปสู่ภพภูมิข้างหน้าในวันหนึ่ง ขณะนี้ที่กำลังเดินหรือดำเนินหนทางนี้อยู่ เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ภพใดภูมิใดข้างหน้า จึงเป็นสิ่งควรที่จะพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ว่า กำลังเดินตามทางของอกุศล หรือ กุศล?

เพราะฉะนั้น ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมจะทำให้เป็นผู้ที่มีปัญญาความเห็นถูกยิ่งขึ้น ซึ่งหนทางข้างหน้านั้น ก็จะทำให้สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ลองถอยไปนึกถึงบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ไม่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเลย จะมีความติด ความเพลิน ความข้องในการเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในสุข ในสมบัติต่างๆ มากมายสักเท่าไร  ที่จะต้องติดไป หลงไป วนเวียนไป โดยที่ไม่มีวันที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ไม่มีโทษเลยแม้แต่น้อย จะเห็นได้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเรื่องของสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงโทษของมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) เพราะเหตุว่าเรื่องความเห็นเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นเบื้องต้น ถ้าเห็นผิด แล้ว  ดำริ ก็ผิด วาจา ก็ผิด การงานก็ผิด เพียรก็ผิด เป็นมิจฉา คือ ผิดไปทั้งหมด       

ถ้าไม่มีความเห็นถูกเลย กุศลธรรมย่อมเกิดอยู่เรื่อยๆ มีความติด มีความยึดมั่น เหนียวแน่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขา อย่างเต็มที่ทีเดียวตามความเห็นผิด ที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น เจริญยิ่งขึ้น กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ย่อมไม่เกิด เพราะมีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้ว เป็นกุศลธรรมในขณะนั้น อกุศลย่อมเกิดไม่ได้ หรือแม้กุศลธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมเสื่อมไป อกุศลธรรมทั้งหลายที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ปัญญาก็สามารถดับได้เมื่ออบรมเจริญถึงความสมบูรณ์พร้อมแล้ว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่การได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นี้คือ คุณประโยชน์ของสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญา นำมาซึ่งประโยชน์อย่างเดียว และ เป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ