[คำที่ ๑๖๗] ฉนฺท

 
Sudhipong.U
วันที่  6 พ.ย. 2557
หมายเลข  32287
อ่าน  635

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “ฉนฺท”

คำว่า “ฉนฺท” เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  ฉัน - ทะ] แปลว่า ความพอใจใคร่ที่จะกระทำ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง  เป็นเจตสิกธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) เกิดกับอกุศลจิต ก็ได้ เกิดกับกุศลจิต ก็ได้ (และที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น เกิดร่วมกับวิบากจิต ก็ได้  เกิดร่วมกับกิริยาจิต ก็ได้ ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ) ถ้าเป็นฉันทะ ที่เป็นอกุศล เป็นไปกับโลภะ บ้าง  โทสะ บ้าง ไม่ดีอย่างแน่นอน   มีแต่จะนำมาซึ่งทุกข์โทษภัย และทำให้อกุศล เกิดพอกพูนมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นฉันทะ ที่เป็นไปกับการเจริญกุศลแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ควรอบรมเจริญจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันทะที่เป็นไปในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละน้อย

ข้อความที่แสดงถึงความพอใจในทางที่เป็นกุศล เป็นฉันทะที่ดีงาม จากสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร มีดังนี้ คือ

“ความพอใจ ความเป็นผู้มีความพอใจ ความเป็นผู้ใคร่จะทำอันใด นั้น จัดเป็นกุศล คือ ความเป็นผู้มีความพอใจในธรรม


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีประโยชน์เฉพาะสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาพร้อมทั้งมีความเข้าใจไปตามลำดับเท่านั้น      ความเป็นผู้สนใจที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจนั้น เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะได้สะสมศรัทธา สะสมปัญญา เห็นประโยชน์ของพระธรรม มาแล้ว จึงมีความสนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ต่อไป ซึ่งจะแตกต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ถึงแม้ว่าพระธรรมจะเปิดอยู่ ใกล้ๆ เขาก็ไม่ฟัง และประการที่สำคัญ ผู้ที่ไม่สนใจศึกษาพระธรรมนั้น  ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น มีทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงประกาศพระศาสนาเกื้อกูลแก่สัตว์โลก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

ที่ควรจะได้พิจารณา คือ ธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ถูก คือ ถูก  ผิด คือ ผิด สำคัญอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชีวิตประจำวันก็มีทั้งกุศลและกุศล และกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลสนานาประการ เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของกุศลไปได้ หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก  เป็นไปเพื่อละคลายกุศล มีทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเป็นผู้พอใจในการฟังพระธรรม  

ความเป็นผู้มีความพอใจในการฟังพระธรรม นั้น ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เป็นผู้มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาพระธรรมว่า ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูกจริงๆ เพราะเข้าใจว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้ คือ อวิชชาที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เริ่มฟัง  ไม่มีฉันทะ ไม่มีความปรารถนาที่จะฟังพระธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง เลย ความเข้าใจถูก ก็จะเจริญขึ้นไม่ได้ นับวันมีแต่จะพอกพูนความไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟัง จึงศึกษา เพื่อละคลายความไม่รู้ อย่างนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการอื่นๆ แต่ถ้าตั้งจิตไว้ผิด ศึกษาเพื่ออย่างอื่น กล่าวคือ ศึกษาเพื่อลาภ ยศ สักการะ สรรเสริญ เพื่อเก่ง หรือ รู้ชื่อเยอะๆ เป็นต้น อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เป็นการศึกษาเพื่อทำร้ายตัวเองอย่างเดียว เพราะเพิ่มกิเลส เพิ่มความสำคัญตนให้มากขึ้น

ดังนั้น ที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน แล้ว คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยังดำรงอยู่ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่มีค่าอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังได้ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกต่อไป ด้วยความละเอียด ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการฟังพระธรรม ไม่ประมาทในแต่ละคำของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะทั้งหมด เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ