[คำที่ ๑๖๘] สพฺพสมฺภารภาวนา

 
Sudhipong.U
วันที่  13 พ.ย. 2557
หมายเลข  32288
อ่าน  441

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สพฺพสมฺภารภาวนา

คำว่า สพฺพสมฺภารภาวนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง (อ่านตามภาษาบาลีว่า  สับ - พะ - สำ - บา - ระ - บา - วะ - นา) มาจากคำ ๓ คำ รวมกัน  คือ สพฺพ (ทั้งปวง,ทุกอย่าง) สมฺภาร (ส่วนประกอบ [ที่จะทำให้ถึงฝั่งแห่งการดับกิเลส], สิ่งที่ควรนำไปพร้อม) กับคำว่า ภาวนา (การอบรมเจริญให้มีขึ้น) แปลรวมกันโดยความหมายได้ว่า การเจริญกุศลทุกประการ เป็นคำที่มีความหมายอย่างลึกซึ้ง เป็นเครื่องเตือนที่ดีอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน โอกาสใดที่จะเจริญกุศล (ทำความดี) ได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็ไม่ควรที่จะละเลยโอกาสนั้นไป เพราะโอกาสของการได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวันนั้น เป็นโอกาสที่หายาก เทียบส่วนกันไม่ได้เลยกับขณะที่เป็นอกุศล ซึ่งในวันหนึ่งๆ อกุศลเกิดบ่อยมากเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีโอกาสของกุศลได้เกิดขึ้นบ้างเลย นับวันอกุศลก็จะสะสมพอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก แต่ถ้ามีการเจริญกุศล ก็จะเป็นการค่อยๆ ขัดเกลาอกุศลอันเป็นสิ่งสกปรกในใจของตนออกไปได้ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ว่า 

"ดูกร พราหมณ์ ธรรมดาบัณฑิตทั้งหลาย ทำกุศลอยู่คราวละน้อยๆ ทุกๆ ขณะ, ย่อมนำมลทิน คือ อกุศล ของตน ออกโดยลำดับทีเดียว"


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเป็นสำคัญ เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม เพราะเหตุว่าการขัดเกลากิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิตใจ) ไม่เหมือนกับการทำความสะอาดวัตถุสิ่งของ เพราะเหตุว่าการขัดเกลากิเลสที่แต่ละบุคคลได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์  ต้องอาศัยการเจริญกุศลบ่อยๆ เนืองๆ ทั้งในเรื่องของการให้ทานเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น  การรักษาศีล การขวนขวายประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ตลอดจนถึงการฟังพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง   

จึงเป็นเครื่องเตือนใจที่ดีสำหรับทุกคน ว่า ไม่ควรที่จะประมาทในทุกขณะจิต เพราะเหตุว่าบางคนอาจจะคิดว่าตนเองได้ทำกุศลมากแล้ว  แต่ระยะเวลาที่กำลังทำกุศลนั้น เป็นเพราะศรัทธา (ความผ่องใส) ก็ดี หิริ (ความละอายต่ออกุศล) ก็ดี  โอตตัปปะ(ความเกรงกลัวต่ออกุศล) ก็ดี เป็นต้น ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายดีทั้งหมด ยังไม่เสื่อม ยังไม่หายไป แต่ว่าไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสของอกุศลธรรม เนื่องจากว่าเมื่อใดที่ศรัทธา เป็นต้นเสื่อมหายไป ไม่เกิดขึ้น ความไม่มีศรัทธา ซึ่งเป็นอกุศลธรรม ย่อมกลุ้มรุมจิต เมื่อนั้นการถึงอกุศลก็ย่อมมี คือ อกุศลย่อมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้ ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด สังเกตเห็นความไม่มีศรัทธา ไม่มีความละอาย ไม่มีความเกรงกลัวต่ออกุศล ได้เลย ในทางตรงกันข้ามขณะที่เป็นกุศล  ก็ย่อมมีธรรมฝ่ายดีเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ตามความเป็นจริงของธรรมที่ใครๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ 

นี่แสดงให้เห็นถึงขณะจิตที่สลับกันอย่างรวดเร็วมาก แม้แต่ในเรื่องของปัญญา บางขณะความรู้ความเข้าใจเกิด แต่ว่าหลังจากนั้นไปแล้ว หลายขณะที่อกุศลกลุ้มรุม ขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่มี เนื่องจากว่าขณะนั้นเป็นไปกับความเพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย หรือ ความขุ่นเคือง ไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็กั้นไม่ให้ปัญญาเกิดในขณะนั้น แม้แต่การฟังพระธรรมหรือการแสวงหาความเข้าใจธรรมยิ่งขึ้น ในขณะนั้นก็หายไปหมดในขณะที่อกุศลกลุ้มรุม เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันจึงไม่ควรประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ เพราะเหตุว่าขณะที่อกุศลเกิดขึ้น เติบโตขึ้น ครอบงำมากขึ้นจนมิดชิด ก็ยากที่จะละคลายลงได้ แต่ว่าถ้าได้เจริญกุศลทุกประการไปเรื่อยๆ ความเข้าใจพระธรรม เข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เนื่องจากว่าขณะนั้นอกุศลธรรมไม่ได้ครอบคลุมจนมิดชิด นั่นเอง  

ชีวิตประจำวันของผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง นอกจากสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมบ้างในบางขณะ ก็จะต้องมีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการอื่นๆ ด้วย จึงจะสามารถละคลายอกุศลให้เบาบางลงได้ เมื่ออบรมเจริญปัญญาต่อไป ก็ย่อมจะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลทุกประการ ยิ่งขึ้น และเมื่อปัญญาถึงความสมบูรณ์พร้อม จากที่เป็นผู้มากไปด้วยกิเลส ก็มีการขัดเกลาละคลาย จนกระทั่งสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้  นี้คือ ผลของการอบรมเจริญปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ อย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ