[คำที่ ๑๗๑] พุทฺธวจน

 
Sudhipong.U
วันที่  4 ธ.ค. 2557
หมายเลข  32291
อ่าน  382

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  พุทฺธวจน

คำว่า พุทฺธวจน เป็นคำบาลีโดยตรง (อ่านตามภาษาบาลีว่า บุด - ดะ - วะ - จะ - นะ) มาจากคำว่า พุทฺธ (พระพุทธเจ้า, ผู้ทรงตรัสรู้ความจริง) กับ คำว่า วจน (คำ หรือ คำพูด) รวมกันเป็น พุทฺธวจน แปลว่า คำของพระพุทธเจ้า แปลทับศัพท์เป็น พระพุทธพจน์ เขียนเป็นไทยได้หลายอย่าง  ทั้ง พระพุทธพจน์ พระพุทธวจนะ พระพุทธวัจน์ แต่ความหมายเหมือนกัน คำใดที่กล่าวถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง คำนั้น เป็นคำของพุทธเจ้า หรือ เป็นพระพุทธพจน์ทั้งหมด โดยประมวลแล้ว คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด “ทุกคำ เพื่อปัญญาอย่างแท้จริง” ตัวอย่างพระพุทธพจน์

“แม้หม้อน้ำ ย่อมเต็ม ด้วยหยาดน้ำ ฉันใด, คนเขลา สั่งสมบาป แม้ทีละน้อยๆ ก็ย่อมเต็ม ด้วยบาป ฉันนั้น”

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท)

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีมิตรดี ย่อมละอกุศลเสียได้ ย่อมเจริญกุศลให้เกิดมี”

(จาก ... พระสุตตันตปิฎก   ขุททกนิกาย   อิติวุตตกะ  ทุติยเสขสูตร)

 “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ชนทั้งหลายจะเป็นบรรพชิต ก็ตาม เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม มีปกติอยู่ด้วยความประมาท ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง(ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า) ทีเดียว” 

(จาก  ...  พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย   คาถาธรรมบท)


ความจริงที่ควรแก่การพิจารณา คือ เพราะเหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ซึ่งเมื่อรวบรวมเป็นหมวดหมู่แล้ว ก็เป็นพระวินัยปิฎกส่วนหนึ่ง เป็นพระสุตตันตปิฎกส่วนหนึ่ง เป็นพระอภิธรรมปิฎกส่วนหนึ่ง

โดยที่ทุกพระพุทธวจนะ มีคุณค่าสุดที่จะเปรียบ เพราะเหตุว่าถ้าสามารถจะเข้าใจทุกพยัญชนะได้จริง จะเกื้อกูลให้แต่ละบุคคลอบรมเจริญปัญญาได้โดยถูกต้อง ไม่ผิดพลาด แต่ถ้าใครคิดว่า ไม่ต้องอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แล้วสามารถจะอบรมเจริญปัญญาของตนเองได้ ก็เป็นเรื่องของผู้นั้นน่าจะพิจารณาว่าจะสำเร็จได้ไหม โดยที่ไม่ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย    เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียดรอบคอบ ถ้าศึกษาเพียงนิดเดียว สั้นๆ แล้วสำเร็จ ทำไมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดถึง ๔๕ พรรษา นี้คือสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาใส่ใจจริงๆ

สำหรับความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสแล้ว แต่ละคนสะสมกิเลสมาอย่างมากมายและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ สภาพของความเป็นปุถุชนนี้ ซึ่งแม้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏทางตาชัดๆ อย่างนี้ ทางหูอย่างนี้ ก็ไม่ได้รู้เลยว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กี่ชาติมาแล้ว กี่แสนโกฏิกัปป์มาแล้ว เป็นอย่างนี้  คือ ไม่รู้ความจริง เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ จึงต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจสิ่งที่มีจริง ไปทีละเล็กทีละน้อย และอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ด้วย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ไม่ทรงสามารถที่จะช่วยให้คนที่ไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล (บุคคลผู้สามารถรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเมื่อทรงยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง) สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ทันทีที่จบเทศนา นี่เป็นเหตุที่ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียดถึง ๔๕ พรรษา ที่จะช่วยเกื้อกูลผู้ที่ไม่สามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมโดยเร็ว ให้พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ให้ฟังแล้วฟังอีก ให้อ่านแล้วอ่านอีก ไม่มีวันจบตลอดชีวิต

ทั้งหมดจึงต้องเป็นเรื่องของปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ที่ต้องอาศัยพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เรา เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าเป็นเรา คือ เป็นตัวตน ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยความไม่รู้ ด้วยความยึดถือสภาพธรรมด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่หน้าที่ของมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) ที่จะดับกิเลส แต่มิจฉาทิฏฐิทำให้เกิดกิเลสเพิ่มขึ้น อวิชชาก็ทำให้เกิดทั้งโลภะ โทสะได้ ทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นซึ่งจะทำกิจละคลายกิเลสจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ

ดังนั้น จึงต้องอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา หรือปัญญายังไม่เกิด หรือปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่มีทางที่จะไปดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นทำอย่างไรเราจะดับกิเลสได้ ทำอย่างไรปัญญาของเราจึงจะเกิดได้ ก็ต้องอาศัยการฟัง เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว แล้ว ทุกคนเป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรม ก็ต้องฟังพระธรรม เห็นถึงพระมหากรุณาคุณของผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาจนถึงความตรัสรู้ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงสามารถที่จะทรงแสดงธรรมที่ได้ทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ให้คนอื่นได้ฟัง ได้พิจารณา ได้น้อมนำมาประพฤติปฏิบัติอบรมจนรู้แจ้งและดับกิเลสได้ เช่นเดียวกับพระองค์ด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะคำที่พระองค์ตรัส ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลโดยส่วนเดียว ไม่มีให้โทษแก่ใครๆ เลยแม้แต่น้อย.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ