[คำที่ ๑๗๒] อตฺถกรณ

 
Sudhipong.U
วันที่  11 ธ.ค. 2557
หมายเลข  32292
อ่าน  549

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “อตฺถกรณ

คำว่า อตฺถกรณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  อัด  -  ถะ - กะ - ระ - นะ] มาจากคำว่า อตฺถ (ประโยชน์) กับ คำว่า  กรณ (การกระทำ) รวมกันเป็น อตฺถกรณ แปลว่า การกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งก็คือ เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมฝ่ายดี ที่กระทำในสิ่งที่ควรทำ เช่น ขยัน ไม่เกียจคร้านในการเจริญกุศล ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เป็นต้น ดังความประพฤติเป็นไปของพระโพธิสัตว์ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก ว่า

“อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อันสมควร (แก่ฐานะ) ของตน แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย(คือ เป็นมิตรพร้อมที่จะช่วยเหลือ).  อนึ่ง เมื่อทุกข์ มีความเจ็บป่วย เป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร. เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ตกอยู่ในความเสื่อม มีความเสื่อมจากญาติและสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล”.


พระพุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้ใครเกียจคร้าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่จะต้องดำเนินไป ก็จะต้องมีกิจประจำวันมากมายหลายอย่าง เช่น บุตรธิดาก็มีกิจที่จะต้องช่วยมารดาบิดาตามกิจหน้าที่ของแต่ละบุคคล เป็นต้น ซึ่งควรที่จะต้องเป็นผู้ขยัน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้าน ก็ไม่สามารถจะเกิดกุศลจิตที่จะกระทำกิจนั้นได้ กิจการต่างๆ สามารถที่จะกระทำได้ด้วยกุศลจิต แต่ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็จะเป็นการกระทำด้วยอกุศลจิต

ไม่ว่าจะเป็นกิจใหญ่น้อยประการใดก็ตามควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น แต่ถ้าไม่กระทำ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ที่ไม่กระทำในขณะนั้น เพราะอะไร? ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำให้เป็นคนเกียจคร้านที่จะกระทำกุศล เพราะฉะนั้น คนขยัน โดยเฉพาะขยันที่จะช่วยสงเคราะห์คนอื่น กระทำไปด้วยกุศล แต่คนที่ไม่กระทำสิ่งที่ควรทำ ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือใคร ในขณะนั้นถ้าสติไม่เกิดขึ้น จะไม่รู้เลยว่า อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ทำให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว มีความสำคัญในตน ลืมคิดถึงบุคคลอื่น แม้แต่การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ไม่เห็น หรืออาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ผิดจริงๆ ส่วนกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ชอบ โดยที่ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเลย ขณะที่สงเคราะห์ช่วยเหลือผู้อื่น กุศลธรรม เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ คือ สงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้ามานะ หรือความสำคัญตนเกิดขึ้น ก็ตั้งจิตไว้ผิด คือ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบุคคลอื่น นั่นอกุศลธรรมเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้ตั้งจิตไว้ชอบเลย แต่ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้วก็ตั้งจิตไว้ถูกจริงๆ ไม่ว่ากับใคร ช่วยเหลือเสมอกันหมด ไม่ได้กระทำไปด้วยความหวังผลตอบแทน    

เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่เห็นว่าเป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ที่มีความประพฤติเป็นไปแตกต่างกัน แท้ที่จริง คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งสะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ก็ตั้งจิตคือปรุงแต่งจิตในขณะนั้นให้เกิดขึ้นเป็นไปในทางอกุศล ถ้าสะสมกุศลธรรมมามาก กุศลธรรมทั้งหลายก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในทางกุศล

ดังนั้น จึงเข้าใจได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไม่ได้สอนให้บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน เพราะเหตุว่าผู้ที่เกียจคร้านจะไม่ทำความดี จะไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเลย จะไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่ขยันในการที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น ซึ่งเป็นการที่จะขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองด้วย เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่กระทำ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของกุศลโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็เป็นการเพิ่มพูนอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลก็จะต้องมีมาก ถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่จะส่งเสริมให้เกิดอกุศลเลยแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม. 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ