[คำที่ ๑๗๓] ภาร

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ธ.ค. 2557
หมายเลข  32293
อ่าน  669

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “ภาร

คำว่า ภาร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า บา - ระ] เขียนเป็นไทยได้ว่า ภาระ แปลว่า สภาพธรรมที่ยังต้องเกิดขึ้นเป็นไป แปลทับศัพท์เป็น ภาระ มุ่งหมายถึงความเป็นไปของสภาพธรรมที่เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นเป็นไป ใครๆ ก็ยังยั้งไม่ได้ ซึ่งไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส ว่า

“ภาระ ๓ อย่าง คือ ขันธภาระ ๑  กิเลสภาระ ๑ อภิสังขารภาระ ๑
ขันธภาระ เป็นไฉน? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในปฏิสนธิ นี้ชื่อว่า ขันธภาระ
กิเลสภาระ เป็นไฉน? ราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ อกุสลาภิสังขาร (กิเลสที่ปรุงแต่งให้จิตเป็นอกุศล) ทั้งปวง นี้ชื่อว่า กิเลสภาระ
อภิสังขารภาระเป็นไฉน? ปุญญาภิสังขาร (เจตนาที่เกิดร่วมกับมหากุศล และ รูปาวจรกุศล) อปุญญาภิสังขาร(เจตนาที่เกิดร่วมกับอกุศล)
อเนญชาภิสังขาร (เจตนาที่เกิดร่วมกับอรูปาวจรกุศล) นี้ชื่อว่า อภิสังขารภาระ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง แม้แต่เรื่องของ ภาระ ก็คือ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ สภาพธรรมสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างที่เกิด เป็นภาระ เพราะว่าเกิดมาแล้วก็ต้องเป็นไป เป็นภาระแน่นอน เริ่มตั้งแต่ขณะแรกในชาตินี้ (ปฏิสนธิ) เรื่อยมา สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้นก็มีมากมายนับไม่ถ้วน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้ทรงแสดงความเป็นไปของภาระ นอกจากจะแสดงโดยนัยของขันธ์แล้ว ก็ยังทรงแสดงโดยนัยอื่น ด้วย แต่เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็ไม่พ้นจากความเป็นขันธภาระ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไป ยับยั้งไม่ได้ ยับยั้งไม่ให้เกิดไม่ได้ เมื่อยังมีเหตุที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย กล่าวโดยกว้างที่สุด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไป เป็นภาระทั้งหมด เพราะต้องเกิด ต้องเป็นไป ในความเป็นขันธภาระที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ก็ยังกล่าวถึงกิเลสภาระ ด้วย เพราะเหตุว่าชีวิตที่เป็นไปตามธรรมดา ถ้าไม่มีกิเลส ก็ย่อมจะดีกว่ามีกิเลส ไม่ต้องลำบาก ไม่ติดข้อง ไม่ขุ่นเคืองใจ เป็นต้น แต่เมื่อยังมีเหตุที่จะทำให้กิเลสเกิดขึ้น กิเลสก็เกิดขึ้นเป็นไป และเป็นไปตามกำลังของกิเลสนั้นๆ ด้วย เป็นภาระที่หนักมากสำหรับกิเลส เพราะกิเลส มีแต่ความติดข้อง มีแต่ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ มีแต่ความเห็นผิด มีแต่ความไม่รู้ เป็นต้น มีการแสวงหาด้วยความติดข้องทั้งทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ วันหนึ่งๆ มากไปด้วยกิเลสภาระจริงๆ ซึ่งเมื่อมีกิเลสแล้ว ก็มีเจตนาความจงใจซึ่งเป็นอภิสังขาร [อภิสังขาร เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งอย่างยิ่ง ปรุงแต่งให้เกิดภพชาติ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปในการกระทำกรรมที่ดี บ้าง ไม่ดี บ้าง] ซึ่งลำพังกิเลสแต่ไม่มีเจตนาที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลในภายหน้าได้ ก็เป็นแต่เพียงสะสมกิเลสต่อไป สะสมความติดข้องต้องการ สะสมความโกรธ เป็นต้น ต่อไป และต้องไม่ลืมว่า กิเลส ก็เป็นขันธ์ ด้วย เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แต่เกิดเป็นกิเลส ไม่ใช่อย่างอื่น    

จะห้ามไม่ให้มีเจตนาที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้ และเจตนาก็เป็นไปตามขันธ์อื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน เพราะเหตุว่าสังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ มีทั้งเจตสิกฝ่ายที่ไม่ดี มีทั้งเจตสิกฝ่ายที่ดี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม ตราบใดที่ยังมีความจงใจที่จะกระทำกรรม ย่อมนำมาซึ่งผล หยุดภาระยังไม่ได้ เนื่องจากยังมีเจตนาความจงใจที่จะกระทำกรรมหนึ่งกรรมใด ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ที่จะเป็นเหตุให้เกิดผล เพราะฉะนั้น เจตนาที่กระทำอกุศลกรรม ทำกรรมที่ไม่ดีประการต่างๆ  เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็เป็นเหตุให้เกิดขันธ์ ที่เป็นวิบาก เช่น เกิดในอบายภูมิ ซึ่งการเกิดในอบายภูมิ เป็นผลของอกุศลกรรม ขณะนั้นก็เป็นขันธ์เกิดแล้ว เป็นขันธ์ที่เป็นผลของอภิสังขาร คือเป็นผลของเจตนาที่กระทำกรรม แล้ว แต่ถ้าเป็นเจตนาที่จงใจขวนขวายกระทำกรรมดี ก็เป็นเหตุนำมาซึ่งผลที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ แต่ก็ยังไม่พ้นไปจากความเป็นภาระอยู่นั่นเอง  

เพราะฉะนั้น เมื่อมีภาระคือเจตนาที่เกิดขึ้นเป็นไปขวนขวายกระทำกรรมดีบ้างไม่ดีบ้าง นั้น ผลก็คือ ยังมีภาระ คือ ขันธภาระ ต่อไป เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของธรรมที่หลากหลาย เป็นภาระ  เป็นสภาพธรรมที่ยังต้องเกิดขึ้นเป็นไป ซึ่งก็มีจริงๆ ในขณะนี้ ขันธภาระก็มี กิเลสภาระก็มี อภิสังขารภาระก็มี แต่ถ้าเป็นอภิสังขารที่ปรุงแต่งขวนขวายกระทำในสิ่งที่ดี เช่น ฟังพระธรรม เจริญกุศลประการต่า งๆ เป็นต้นนั้น ก็ไม่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยใดๆ เพราะสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัย ก็ต้องเป็นอกุศลธรรม เท่านั้น   

พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดยิ่ง สอดคล้องกันหมด ในความเป็นเหตุเป็นผล เพื่อเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ดังนั้น กว่าจะเข้าใจ จริงๆ ถึงความเป็นธรรมที่ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง อย่างที่ทรงแสดงความเป็นภาระ ก็คือ ความเป็นไปของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ทุกครั้งที่ได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรม ว่า เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ไม่ใช่เรา. 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ