[คำที่ ๑๗๔] อสนฺตุฏฐิตา‏

 
Sudhipong.U
วันที่  25 ธ.ค. 2557
หมายเลข  32294
อ่าน  874

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อสนฺตุฏฺฐิตา

คำว่า อสนฺตุฏฺฐิตา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - สัน - ตุด - ถิ - ตา] มาจากคำว่า (ไม่) สนฺตุฏฺฐิ (สันโดษ,ยินดีในของของตน ยินดีในสิ่งที่มีอยู่ และยินดีตามสมควร) รวมกับคำว่า ตา (ความเป็น) รวมกันเป็น  อสนฺตุฏฺฐิตา แปลโดยใจความตามพระธรรม คือ ความเป็นผู้ไม่พอเพียง ในกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคือ ไม่หยุดสะสมความดีเพียงแค่นี้ แต่เห็นประโยชน์ของความดีที่เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ก็เป็นผู้เจริญกุศล สะสมความดียิ่งขึ้น เพราะดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์  เนื่องจากกิเลสที่จะต้องละ นั้น มีมาก ตามข้อความจาก มโนรถ-ปูรณี อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ว่า 

“บทว่า อสนฺตุฏฺฐิตา จ กุสเลสุ ธมฺเมสุ ได้แก่ ความเป็นผู้ไม่สันโดษ*(คือไม่พอเพียง) ในกุศลธรรมทั้งหลาย จนกว่าจะถึงอรหัตตมรรค”

*[หมายเหตุ  โดยทั่วไปแล้ว ความไม่สันโดษ ต้องเป็นอกุศล ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดเกลาความติดข้องต้องการ แต่ถ้าใช้ในนัยของ ความไม่สันโดษ คือ ความไม่พอเพียงในกุศลธรรมทั้งหลาย นั้น ต้องเป็นธรรมฝ่ายดี เท่านั้น]


ชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละชาตินั้นแสนสั้นมาก ชีวิตในชาติหนึ่งเริ่มต้นที่ปฏิสนธิจิต แล้วสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อจุติจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทำให้เคลื่อนพ้นจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ที่เรียกว่า ตาย นั่นเอง ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เกิดมาแล้วในที่สุดก็จะต้องตาย แต่ก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่า จะเป็นวันใด เวลาใด และตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละขณะของชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่หวนกลับมาได้อีก มีแต่เกิดแล้วก็เป็นไป แล้วก็ไม่กลับมาอีกเลย

ที่ควรที่จะได้พิจารณาอยู่เสมอ คือ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พร้อมทั้งมีโอกาสได้พบพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ได้พบกัลยาณมิตรที่ให้ความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้องตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง นั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็จะได้พบ เพราะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ ถ้าไม่ได้สะสมความดีมา ก็จะไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถ้าไม่เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่เคยฟังพระธรรมในชาติก่อนๆ มาเลย ก็จะไม่มีเหตุปัจจัยให้ได้พบกัลยาณมิตรและไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น การได้ในสิ่งที่ประเสริฐเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ได้โดยยากแสนยากในสังสารวัฏฏ์อย่างแท้จริง เมื่อเทียบกับการได้รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ในชีวิตประจำวัน     

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกๆ วัน ควรที่จะได้เตือนตนเองอยู่เสมอว่า จะมีวันพรุ่งนี้หรือไม่ ที่จะได้ฟังพระธรรมต่อไป? หมายความว่า ชีวิตอาจจะอยู่ไม่ถึงพรุ่งนี้ก็ได้ อาจจะสิ้นชีวิตก่อนถึงวันพรุ่งนี้ก็ได้ เพราะชาติต่อไป  อาจจะเป็นในขณะต่อไปนี้ ก็ได้ มีโอกาสที่จะฟังพระธรรม ก็ควรรีบฟัง รีบสะสมปัญญาในทันที พร้อมทั้งมีโอกาสที่จะได้สะสมความดีประการต่างๆ จะเล็กน้อยหรือมาก เพียงใด ก็ไม่ควรละเลย เป็นผู้ไม่พอเพียงในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะดีเท่าไหร่ ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุว่า สิ่งที่เป็นอกุศล คือ ความไม่ดีทั้งหลายที่สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ เป็นสิ่งที่จะต้องถูกขัดเกลา ด้วยความดี และความเข้าใจพระธรรม   

ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ย่อมเกิดประโยชน์ คือ ความรู้ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น เพราะเหตุว่าฟังพระธรรม ก็เพื่อประโยชน์  คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้น มีโอกาสที่จะเจริญกุศลประการใด ก็เจริญทันที พร้อมทั้งเห็นโทษเห็นภัยของกุศลแต่ละขณะที่เกิดขึ้น เช่น ความโกรธ ความริษยา ความตระหนี่ ความติดข้อง ความเห็นผิด และความไม่รู้ เป็นต้น แล้วค่อยๆ ขัดเกลากุศลธรรมทั้งหลายเหล่านี้ จนกว่าจะละได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท(ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดอีกเลย) นี้คือ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม ซึ่งบุคคลผู้มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับเท่านั้น ที่จะเป็นอย่างนี้ได้ กล่าวคือ ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เหมือนกับพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ท่านได้รับประโยชน์จากพระธรรม มาแล้ว ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ