[คำที่ ๑๗๕] อุปาทาน

 
Sudhipong.U
วันที่  1 ม.ค. 2558
หมายเลข  32295
อ่าน  602

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “อุปาทาน

คำว่า อุปาทาน เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  อุ - ปา -  ทา - นะ] มาจากคำว่า อุป (มั่น) กับคำว่า  อาทาน  (การยึด,การถือ)  รวมกันเป็น  อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่น ถือมั่น ตามข้อความจากปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตร ว่า การยึดมั่น ท่านเรียกว่า อุปาทาน เพราะว่า อุป ศัพท์ ในคำว่า อุปาทาน นี้ มีเนื้อความว่า มั่น, เป็นการแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของกิเลส ที่ปรากฏเป็นความยึดมั่น ถือมั่น คือ ความติดข้อง ยินดีพอใจ ซึ่งได้แก่ โลภเจตสิก กับ ความเห็นผิด คือ ทิฏฐิเจตสิก ซึ่งจำแนกเป็นอุปาทาน ๔  ได้แก่  กามุปาทาน (ความยึดมั่นในกาม) ทิฏฐิปาทาน(ความยึดมั่นในความเห็นผิด) สีลัพพตุปาทาน (ความยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด) และ อัตตวาทุปาทาน (ความยึดมั่นว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล)


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องมีความเพียร อดทน จริงใจ ที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง ได้เห็นโทษของอกุศล และ เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองมากไปด้วยสิ่งที่ไม่ดี เพียงใด ไม่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้เลย แต่สำหรับผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จึงมีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากการได้ฟังความจริง คือ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังคำใด ก็เข้าใจในคำนั้น  ซึ่งแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้ แม้แต่ในเรื่องของอุปาทาน  ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่เป็นธรรมในทางฝ่ายอกุศล ซึ่งเมื่อยังไม่ได้ดับ ก็ยังมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ประโยชน์ ก็อยู่ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่มีเราแทรกอยู่ในสภาพธรรมเหล่านั้นได้เลย 

อุปาทาน หมายความถึง ความยึดมั่น ความถือมั่น ความยึดติดมั่น ได้แก่ กามุปาทาน ๑ ทิฏฐุปาทาน ๑ สีลัพพตุปาทาน ๑ อัตตวาทุปาทาน ๑ ซึ่งในหมวดของอุปาทาน ความยึดมั่น นั้น จะมีลักษณะของอุปาทาน ๔ อย่าง คือ

๑. กามุปาทาน หมายความถึง ความยึดมั่นในกาม ได้แก่ ความยึดมั่นในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบทางกาย) จึงชื่อว่า กามุปาทาน ซึ่งแต่ละคนก็คงจะพอเห็นถึงความเหนียวแน่น ในความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะว่า ยากเหลือเกินที่จะละได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอุปาทาน เพราะว่ายึดติดแน่นมาก และอย่างกว้างแล้ว ทรงแสดง กามุปาทาน หมายรวมถึงความติดข้องยินดีในภพ ด้วย ดังนั้น ผู้ที่เป็นพระอรหันต์เท่านั้นที่จะดับกามุปาทานได้อย่างหมดสิ้น 

๒. ทิฏฐุปาทาน หมายความถึง ความยึดมั่นในความเห็นผิด มีความเห็นผิดว่า บุญ ไม่มี บาป ไม่มี การกระทำความดีไม่มีผล การกระทำชั่ว ไม่มีผล การบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่มีผล เห็นว่า สัตว์ตายแล้วสูญบ้าง หรือเห็นว่าโลกเที่ยงบ้าง เป็นต้น ซึ่งไม่ตรงตามความเป็นจริง  แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริงโดยละเอียดโดยประการทั้งปวง แต่ผู้ที่มีความยึดมั่นในความเห็นอย่างนั้น ก็ไม่สามารถที่จะสละความยึดมั่นอย่างนั้นได้ นี้คือ ทิฏฐุปาทาน

๓. สีลัพพตุปาทาน หมายความถึงการยึดถือข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด เป็นความยึดมั่นอย่างยิ่ง อย่างเช่น ที่เมืองพาราณสี อินเดีย เมื่อมีความเห็นผิด ก็มีข้อปฏิบัติทางกายที่ผิดๆ หลายอย่าง ซึ่งเป็นความยึดมั่นว่า ข้อปฏิบัติทางกายที่ตนเองประพฤติ เช่น การลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาวันละ ๓ ครั้ง จะทำให้หมดกิเลสได้ นอกจากนั้นแล้วที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น การจดจ้องต้องการที่จะรู้สภาพธรรม การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้  เช่น นั่งสมาธิ  เดินจงกรม ทำผิดๆ ในรูปแบบต่างๆ  ตามๆ กันไป เป็นต้น ด้วยความสำคัญผิดว่าจะเป็นเหตุให้หมดจดจากกิเลส ล้วนเป็นสีลัพพตุปาทาน คือ การยึดถือข้อปฏิบัติที่ผิดว่าเป็นหนทางที่จะทำให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสได้ ทั้งหมด

๔. อัตตวาทุปาทาน หมายความถึง การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นอัตตา หรือเป็นตัวตน เพราะตามความเป็นจริง สภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่ง ที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แต่เพราะมีความเห็นผิด  จึงหลงยึดถือว่า มีตัวตน มีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ เพราะฉะนั้น อัตตวาทุปาทาน ก็ต่างจากข้อที่ ๒ คือ ทิฏฐุปาทาน ว่า เมื่อแยกอัตตวาทุ-ปาทาน การยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ออกแล้ว ความเห็นผิดอื่นที่เหลือทั้งหมดเป็นทิฏฐุปาทาน แต่เมื่อว่าโดยสภาพธรรม แล้ว ทั้งทิฏฐุปาทาน สีลัพพตุปาทานและอัตตวาทุปาทาน ก็คือ ทิฏฐิเจตสิก(คือความเห็นผิด) นั่นเอง 

ทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของแต่ละคนในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงแสดง ก็ไม่ทราบว่ามีการยึดติดในอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังเป็นปุถุชน ยังไม่ใช่พระอริยบุคคล ก็ยังมีการยึดติดในทิฏฐิซึ่งเป็นความเห็นผิดประการต่างๆ บ้าง ในความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนบ้าง ในข้อปฏิบัติที่ผิดบ้าง ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะบ้าง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นเครื่องเตือนให้รู้สึกตนเองว่า ยังมากไปด้วยกิเลสจริง ๆ

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง เกื้อกูลให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาความติดข้อง ความเห็นผิด ความไม่รู้ ตลอดจนถึงกิเลสประการอื่นๆ จนกว่าจะถูกดับได้ในที่สุด ดังนั้น จึงสำคัญที่การตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงๆ บ่อยๆ เนือง ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ