[คำที่ ๑๗๘] อุปธิ

 
Sudhipong.U
วันที่  22 ม.ค. 2558
หมายเลข  32298
อ่าน  852

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  “อุปธิ”

คำว่า อุปธิ เป็นภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อุ - ปะ - ทิ] แปลว่า สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นทุกข์ เพราะเมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และยังเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ประการต่างๆ ด้วย ตามข้อความจาก ปรมัตถ-ทีปนี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค นันทิสูตร แสดงอุปธิ ๔ ประการ ดังนี้ คือ

บทว่า อุปธิ ในบทว่า อุปธิ หิ นรสฺส นนฺทนา ได้แก่ อุปธิ ๔ อย่าง คือ กามูปธิ อุปธิ คือ กาม ๑ ขันธูปธิ อุปธิ คือ ขันธ์ ๑ กิเลสูปธิ อุปธิ คือ กิเลส ๑ อภิสังขารูปธิ อุปธิ คือ อภิสังขาร ๑


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง  นับคำไม่ถ้วน แต่ละคำละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้มีความเข้าใจแต่ละคำที่ทรงแสดง ด้วยความเข้าใจอย่างมั่นคงจริงๆ เป็นการศึกษาพระธรรมทีละคำ เก็บไปทีละคำด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ในที่สุดความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อย ๆ เจริญขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของสภาพธรรมยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังคำอะไรที่เป็นวาจาสัจจะ(คำจริง) ก็รวมลงที่เพื่อความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ ความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ อุปธิ ก็เช่นเดียวกัน จากคำนี้คำเดียว ก็แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด

ความหมายของอุปธิ คือ สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ ทรงแสดงโดยนัยที่เป็นอุปธิ ๔ ได้แก่

กามูปธิ (อุปธิ คือ กาม) ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งชาวโลกถือว่ากามเป็นที่อาศัยของความสุข หรือว่ากามเป็นที่อาศัยแห่งสุข เป็นชีวิตประจำวันที่แต่ละคนแสวงหา เพราะคิดว่าความสุขของตนต้องอาศัยกาม ถ้าปราศจากกามแล้ว คือ ปราศจากรูป ปราศจากเสียง ปราศจากกลิ่น ปราศจากรส ปราศจากโผฏฐัพพะที่ดีๆ  แล้ว ชีวิตย่อมไม่มีสุข นี่คือความรู้สึกของชาวโลก คือ เห็นว่ากามเป็นที่อาศัยแห่งสุข แต่ตามความจริงแล้ว กามเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ เพราะเหตุว่ากามไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน  ไม่มีสภาพธรรมแม้แต่อย่างเดียวที่เกิดแล้วจะไม่ดับ ถึงจะกล่าวอย่างนี้ตามความเป็นจริงของธรรม แต่สำหรับแต่ละคนแล้วก็ยังคงต้องการหรือแสวงหากามูปธิ อุปธิ คือ กาม อยู่นั่นเอง เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะที่เป็นทุกข์ของกาม คือ สภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

ขันธูปธิ  (อุปธิ คือ ขันธ์) ขันธ์ก็เป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ เป็นสภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นสภาพซึ่งนำมาซึ่งทุกข์ จะเห็นได้ว่าแต่ละคนก็ยังคงต้องการขันธ์อีก คือ ต้องการที่จะเห็น ต้องการที่จะได้ยิน ต้องการที่จะได้กลิ่น ต้องการที่จะลิ้มรส ต้องการที่จะถูกต้องกระทบสัมผัสกับโผฏฐัพพะ ต้องการรูป ต้องการเวทนาซึ่งเป็นความรู้สึกต่าง ๆ  เป็นต้น เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เป็นทุกข์ของขันธ์ เพราะตามความเป็นจริงแล้วขันธ์ทั้งหมด ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไป และเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ประการต่างๆ

กิเลสูปธิ (อุปธิ คือ กิเลส) กิเลสก็เป็นอุปธิ เพราะเหตุว่ากิเลสเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ในอบาย (ภพภูมิที่ปราศจากความเจริญ) ถ้าใครยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ อันเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม ย่อมไม่พ้นจากอบาย เพราะเหตุว่าไม่มีใครสามารถที่จะนำไปสู่อบาย ได้ นอกจากกิเลส จะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ และกิเลสประการต่างๆ เพราะฉะนั้น ก็ยังมีกิเลสซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ในอบาย ถ้าได้กระทำอกุศลกรรมเพราะโลภะ หรือเพราะโทสะ หรือเพราะโมหะก็ตาม เมื่อเป็นอกุศลกรรมแล้วย่อมสามารถที่จะทำให้ปฏิสนธิในอบายได้  ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า กิเลสเท่านั้นที่เป็นเหตุทำให้เกิดในอบาย และทำให้ได้รับผลที่เป็นความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ มากมาย

อภิสังขารูปธิ (อุปธิ คือ อภิสังขาร) ได้แก่ เจตนาซึ่งเป็นกรรม เป็นที่อาศัยของทุกข์ในภพ เพราะเหตุว่าเจตนาที่เป็นกุศลกรรมก็มี เจตนาที่เป็นอกุศลกรรมก็มี เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจตนาที่เป็นกุศลหรืออกุศลก็เป็นอภิสังขาร คือ เป็นอุปธิที่เป็นที่อาศัยแห่งทุกข์ในภพ ตราบใดที่ยังมีกุศลย่อมให้ผลเป็นกุศลวิบาก ทำให้เกิดในสุคติภูมิ ก็ยังไม่พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ ยังไม่พ้นไปจากทุกข์ได้ การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นสุคติภูมิ ก็ยังไม่พ้นจากทุกข์ในภพ ยังจะต้องมีการเกิดอีก ยังจะต้องมีการตายอีก อยู่เรื่อยๆ หรือถึงแม้ว่าจะเกิดในสวรรค์ ก็จะต้องถึงกาลที่สิ้นสุดของการเป็นเทวดาในสวรรค์ แต่ถ้าเป็นอกุศลเจตนา ก็ทำให้เกิดในภพภูมิที่เป็นอบายภูมิ เต็มไปด้วยความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย และ  ทั้งหมดนั้นยังไม่พ้นไปจากการเวียนว่ายตายเกิด ยังไม่พ้นจากทุกข์ เพราะเหตุว่ายังไม่พ้นจากอภิสังขารูปธิ นั่นเอง และเจตนานั้นก็ยังเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่

นี้คืออุปธิ ๔  โดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน หนีไม่พ้นอุปธิ ๔ คือ กามูปธิ ทุกวันๆ ขันธูปธิ ก็ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น กิเลสูปธิ เมื่อเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็เกิดโลภะบ้าง โทสะบ้าง  นอกจากนั้น ก็มีอภิสังขารูปธิ เพราะเหตุว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะโลภะ โทสะ ยังเกิดเจตนาที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ที่จะกระทำกรรมที่เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ทุกๆ วันในชีวิตประจำวันไม่พ้นจากอุปธิเลย อุปธิทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ก็ทุกข์ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่า สามารถที่จะพิจารณาธรรมละเอียดขึ้น เข้าใจชัดเจนขึ้น เห็นสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นเข้าใจ แต่ต้องประกอบกับสติสัมปชัญญะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้งในสภาพที่เป็นอุปธินั้นๆ ด้วย

ทั้งหมดของพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจในสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง ว่า เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ซึ่งเหตุสำคัญที่จะนำไปสู่ความเป็นผู้มีปัญญาเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้  ก็คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความไม่ประมาท ละเอียด รอบคอบ ไม่ผ่านไปในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ