[คำที่ ๑๗๙] อกุสลมูล

 
Sudhipong.U
วันที่  29 ม.ค. 2558
หมายเลข  32299
อ่าน  401

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อกุสลมูล

คำว่า อกุสลมูล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - กุ- สะ- ละ- มู - ละ] มาจากคำว่า อกุสล (อกุศล,สภาพธรรมที่ไม่ดี)  กับ คำว่า มูล (รากเหง้า,มูลราก, เหตุ) รวมกันเป็น อกุสลมูล เขียนเป็นไทยได้ว่า อกุศลมูล แปลว่า รากเหง้าของอกุศล, มูลรากของอกุศล,  เหตุของอกุศล เป็นคำที่กล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ๓ ประเภท คือ โลภะ ความติดข้อง โทสะ ความโกรธ ความขุ่น เคืองใจ และ โมหะ ความไม่รู้ เป็นมูลหรือเป็นเหตุให้อกุศลจิตและเจตสิกธรรมอื่นๆ เกิดขึ้น และเมื่อสะสมมากขึ้น เป็นปัจจัยให้กระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมประการต่างๆ ได้ ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต มูลสูตร ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลมูล (รากเหง้าของอกุศล) ๓ ประการ นี้  ๓ ประการคืออะไรบ้าง? คือ โลภะ (ความโลภ) โทสะ (ความโกรธ)   โมหะ(ความหลง) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้ตัวโลภะ โทสะ โมหะเอง ก็เป็นอกุศล แม้กรรมที่บุคคลผู้เกิดโลภะ โทสะ โมหะ แล้ว ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ก็เป็นอกุศล


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา โดยละเอียดโดยประการทั้งปวงนั้น เกื้อกูลแก่บุคคลผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย และประการสำคัญไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟังเหมือนกันหมด ถ้าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา ไม่เคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงเลย  ย่อมไม่มีโอกาสได้ฟัง  เฉพาะผู้ที่สะสมเหตุที่ดีมา เห็นประโยชน์ของพระธรรม เท่านั้น  ที่จะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษา เมื่อมีโอกาสได้ฟังแล้ว ก็ควรที่จะได้ฟังต่อไป ไม่ควรปล่อยโอกาสของการฟังพระธรรมให้ผ่านไป เพราะพระธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ต้องอาศัยกาลเวลาในการสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน

เมื่อกล่าวถึงธรรมแล้ว กว้างขวางมากครอบคลุมถึงสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งจะต้องมีความละเอียดว่า ในที่นั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจถึงธรรมอะไร ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากสิ่งที่มีจริงเลย แม้แต่ธรรมที่เป็นมูลหรือเป็นรากเหง้าที่จะเป็นเหตุหรือเป็นที่ตั้งของอกุศลธรรมทั้งหลาย คือ อกุศลมูล นั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ   

อกุศลมูล ได้แก่ ธรรมที่เป็นมูลหรือรากเหง้าของอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้แก่ โลภะ โทสะ และ โมหะ เป็นมูลราก เป็นเหตุที่ไม่ดี เป็นเหตุให้อกุศลธรรมเกิดขึ้น เป็นธรรมที่มีจริงๆ เวลาที่มูลเหล่านี้เกิดขึ้นก็ทำให้จิตเป็นอกุศลและเป็นที่ตั้งหรือนำมาซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายในขณะนั้น เพราะมูล นั้น ด้วย เช่น โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ บางครั้งก็นำมาซึ่งอิสสา ความริษยา ทนไม่ได้ที่เห็นผู้อื่นได้ดีมีความสุข บางครั้งก็นำมาซึ่งมัจฉริยะความตระหนี่ไม่อยากให้สมบัติของตนทั่วไปกับผู้อื่น บางครั้งก็นำมาซึ่งกุกกุจจะ ความเดือดร้อนรำคาญใจในกุศลที่ไม่ได้ทำหรือเดือดร้อนรำคาญใจเพราะได้กระทำอกุศลกรรมไปแล้ว เพราะมีสิ่งที่เป็นมูล คือ โทสะ สำหรับโมหะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้ความจริง เกิดแล้วมีแล้วเป็นปัจจัยให้เกิดอหิริกะ ความไม่ละอายต่ออกุศลธรรม อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศลธรรม อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านไม่สงบ เมื่อมีโมหะที่ใด ต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และเจตสิกอื่นๆ ตามควรแก่อกุศลจิตขณะนั้นเกิดร่วมด้วย สำหรับขณะใดที่มีโลภะ ความติดข้องต้องการในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นหนึ่งในอกุศลมูล ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะโลภะเท่านั้น แต่มีอหิริกะ อโนตตัปปะ  โมหะ และอุทธัจจะ  เกิดร่วมด้วย การฟังพระธรรมก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นต่อไปว่า ขณะใดที่โลภะเกิดขึ้น  บางครั้งก็มีมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย บางครั้งก็มีความสำคัญตนเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นมูลทั้งโลภะ โทสะ โมหะ ก็จะนำมาซึ่งสภาพธรรมอื่นๆ ตามสภาพของธรรมนั้น นี้คือความเป็นจริงของธรรม ซึ่งใครๆ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และ ที่สำคัญ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

ในชีวิตประจำวันอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปมาก ในขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้นนั้น ก็ต้องมีอกุศลมูล เกิดร่วมด้วยตามควรแก่อกุศลจิต นั้นๆ เพราะได้สะสมอกุศลมาอย่างเหนียวแน่นและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่มีทางที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงและไม่มีทางที่จะเห็นโทษของอกุศลได้ ในแต่ละวันมีแต่โอกาสของอกุศลเกิดพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ และย่อมจะไม่มีปัญญาที่จะดับอกุศลเหล่านั้นได้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาไปเรื่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ หนทางที่เป็นไปเพื่อการดับอกุศล นั้น มีอยู่แล้ว คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ที่จะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำสอนของผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ