[คำที่ ๑๘o] อญฺญาณ

 
Sudhipong.U
วันที่  5 ก.พ. 2558
หมายเลข  32300
อ่าน  466

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อญฺญาณ

คำว่า อญฺญาณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  อัน - ยา - นะ] มาจากคำว่า อ (ไม่) กับ คำว่า ญาณ (รู้) รวมกันเป็น อญฺญาณ เขียนเป็นไทยว่า อัญญาณ แปลว่า ความไม่รู้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งก็คือ อวิชชา หรือ โมหะ นั่นเอง เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับปัญญา ตามข้อความจาก พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า “สภาวะที่ชื่อว่า อัญญาณ (ความไม่รู้) เพราะเป็นปฏิปักษ์ต่อญาณ”

ความไม่รู้เป็นสภาพธรรมที่ปกปิดมืดมิดไม่สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันได้เลย ตามข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร ว่า

“โมหะทำให้เกิดความพินาศ โมหะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโมหะนั้นอันเกิดในภายในว่าเป็นภัย คนหลงย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โมหะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อ ย่อมมีในขณะนั้น”


ความไม่รู้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นสภาพที่ไม่รู้ในสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แม้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงพระธรรมโดยนัยของขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นต้น ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ หากไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจว่า อะไรคือธรรม? ธรรมอยู่ในขณะไหน? เป็นต้น ก็จะไม่เข้าใจความจริงของโลกว่ามีแต่ธรรมเท่านั้น, เมื่อไม่เข้าใจความจริง  ย่อมเป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรมที่มีในขณะนี้ กล่าวคือไม่รู้ว่าในขณะนี้เป็นธรรม จึงหลงยึดถือสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยินที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด, เมื่อถูกความไม่รู้ครอบงำ ย่อมทำให้ไม่เห็นความจริง ไม่เข้าใจความจริง แม้สภาพธรรมกำลังปรากฏในขณะนี้ก็ไม่รู้ และก็จะสะสมความไม่รู้อย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ 

เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาว่าเพราะมีความไม่รู้ เป็นเหตุ จึงทำให้มีการทำอกุศลกรรมประการต่างๆ มากมายมีกายทุจริตเป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง และเมื่อผลที่ไม่ดีเกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับตนเองเท่านั้น เพราะความไม่รู้ จึงทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ก็เป็นการตัดโอกาสแห่งการเกิดขึ้นของกุศลธรรม ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นปัญญาแล้ว ตรงกันข้ามกับความไม่รู้อย่างสิ้นเชิง เป็นเหตุให้ความดีประการต่างๆ เจริญยิ่งขึ้น ทำให้ได้ในสิ่งที่ควรได้ เพราะกุศลธรรมเจริญ จนกระทั่งสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น ปัญญาหรือวิชชา จึงเป็นธรรมที่นำไปสู่ความดีทั้งปวงอย่างแท้จริง ทำให้เว้นจากสิ่งที่ไม่ดี คือ อกุศลธรรมโดยประการทั้งปวง ปัญญาจะไม่นำพาไปสู่ทางที่ผิดเลยแม้แต่น้อย

สาเหตุที่แต่ละบุคคลยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด อย่างไม่มีวันสิ้นสุด ก็เพราะยังมีความไม่รู้อยู่นั่นเอง เป็นสภาพที่หุ้มห่อไว้ทำให้ไม่รู้ความจริง เมื่อไม่รู้ความจริงก็มืดมน ไม่สามารถที่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวัน อกุศลจิตเกิดมากกว่ากุศลจิต เพราะฉะนั้นแล้ว ความไม่รู้จึงเกิดขึ้นมากทีเดียว เพราะความไม่รู้เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตประเภทใดก็ตาม ก็จะไม่ปราศจากความไม่รู้เลย

หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายความไม่รู้ให้เบาบางลงได้  คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต นั่นก็คือ การฟังพระธรรม ด้วยความละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ขณะที่เข้าใจถูกเห็นถูกก็เริ่มละคลายความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้น หนทางที่จะละความไม่รู้ได้ ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญา เท่านั้น หนทางอื่นนอกจากนี้ไม่มี.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ