[คำที่ ๑๘๑] วตฺถุ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ก.พ. 2558
หมายเลข  32301
อ่าน  595

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ วตฺถุ

คำว่า วตฺถุ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  วัด - ถุ] มีหลายความหมายขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละที่นั้น จะมุ่งหมายถึงความหมายอะไร เช่น หมายถึง สิ่งของ, ที่ตั้ง, เรื่องราว, ที่เกิดของจิต ในที่นี้จะขอนำเสนอในความหมายว่า ที่เกิดของจิต เพราะในภูมิที่มีขันธ์ ๕  (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จิตจะต้องเกิดที่รูป อันเป็นวัตถุรูป  ๖ รูป ตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ ข้อความใน สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ แสดงไว้ว่า “ในพระบาลีนี้  วิญญาณ ๕ มีจักขุวิญญาณเป็นต้น มีจักขุปสาท-วัตถุเป็นต้น เป็นที่อาศัยเกิดทีเดียว, มโนวิญญาณมีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง ไม่มีหทยวัตถุเป็นที่อาศัยเกิดบ้าง วิญญาณทั้งหมด เป็นวิญญาณเป็นไปในภูมิ ๔ (กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิ)”


ชีวิตของแต่ละคนในชาตินี้เริ่มที่ปฏิสนธิจิต ขณะแรกที่จิตเกิด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะจิตกับเจตสิกไม่แยกจากกัน จิตอาศัยเจตสิกปรุงแต่ง เจตสิกก็อาศัยจิตเกิดขึ้น เกิดพร้อมกันในขณะนั้น โดยเป็นผลของกรรม นี้คือชาติคือการเกิดขึ้นของจิตซึ่งเกิดเป็นผลของกรรม ไม่ใช่กรรม แต่กรรมที่ได้ทำแล้ว จะเห็นแรงกำลังของเจตนาที่ทำกรรม ว่า เมื่อจากโลกหนึ่งไปแล้ว กรรมพาไปได้หรือกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดได้  จากโลกนี้ไปถึงสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้ ไปถึงอเวจีนรกก็ได้ เพราะกำลังของกรรมที่ได้กระทำแล้ว พร้อมที่จะให้ผล กรรมนั้นจึงสามารถที่จะทำให้วิบากจิต คือ ผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นแล้วแต่จะเป็นภพไหน ในขณะแรกที่เกิดต้องมีจิต เจตสิก แล้วทำไมถึงมีรูปมาจนถึงวันนี้ได้ ถ้าไม่มีรูปที่เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดสืบต่อพร้อมกับปฏิสนธิจิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้รูปนั้นเกิดดับสืบต่อ จนกระทั่งเป็นแต่ละบุคคลในขณะนี้ นี้คือสิ่งที่น่าพิจารณา   

เพราะฉะนั้น เจตนาที่กระทำกรรมนั้น เป็นปัจจัยที่จะให้จิต เจตสิกและรูปเกิดขึ้นในภพหนึ่ง แล้วแต่ว่ากรรมนั้นจะเป็นกรรมอะไร ถ้าเป็นกรรมที่ถึงความสงบของจิตเป็นฌานขั้นต่างๆ ย่อมไม่เกิดในโลกนี้อย่างแน่นอน กว่าจะถึงฌานจิตเกิดถึงความสงบในระดับขั้นที่ไม่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็ต้องอาศัยปัญญาระดับหนึ่งที่เมื่อให้ผล ไม่ให้เกิดในโลกนี้ แต่จะทำให้เกิดในพรหมโลก กล่าวได้ว่าทุกคนที่เกิดในโลกนี้เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง เป็นผลของทานก็ได้ เป็นผลของศีลก็ได้ เป็นผลของการฟังพระธรรมก็ได้ (ขณะที่เข้าใจพระธรรม เป็นกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา) แต่ขณะที่เกิดนั้นไม่ได้มีเฉพาะจิตกับเจตสิก แต่มีรูปเกิดด้วย แต่เป็นรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เพราะฉะนั้นต้องมีรูปอื่นๆ หลังจากที่เติบโตมา กว่าจะมาถึงจักขุปสาทะ (ตา) โสตปสาทะ (หู) เป็นต้น เพราะว่าจะรู้ได้ว่าในภพภูมิมนุษย์ยังไม่มีรูปครบในขณะที่เกิดครั้งแรก นี้เป็นความละเอียด, แม้จิตขณะแรก ยังต้องเกิดที่รูปที่กรรมเป็นปัจจัยให้เกิด รูปที่เป็นที่เกิดของจิตในขณะปฏิสนธิเรียกว่า หทยรูป และก็ใช้คำว่า หทยวัตถุ พอใช้คำว่า วัตถุ ย่อมหมายเอาเฉพาะรูปที่เป็นที่เกิดของจิต แต่ถ้าไม่กล่าวถึงวัตถุก็เป็นรูปธรรมดา เช่น ถ้ากล่าวว่า จักขุวัตถุ คือ รูปนั้นเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ(จิตเห็น) เพราะเหตุว่าจักขุปสาทะ กรรมก็ทำให้เกิดดับเร็วมากทุกอนุขณะของจิต จิตขณะหนึ่งที่เกิดขึ้นจะมีอนุขณะคือขณะย่อยอยู่ ๓ ขณะ คือ ขณะที่เกิดขึ้น ขณะที่ยังไม่ดับ และขณะที่ดับ    กรรมทำให้รูปที่เกิดเพราะกรรมเกิดทุกอนุขณะของจิต ขณะนี้หรือขณะนอนหลับ จักขุปสาทะก็มี แต่ไม่เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ เพราะว่าจิตเห็นไม่ได้เกิด แต่ขณะใดที่จิตเห็นเกิด จิตเห็นจะเกิดที่ไหนไม่ได้ นอกจากเกิดที่ จักขุปสาทรูป ซึ่งขณะที่เป็นที่เกิดของจิตเห็น ก็เรียกว่า จักขุวัตถุ 

เพราะฉะนั้น รูปอันเป็นที่เกิดของจิต มี ๖ รูป คือ จักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง โสตวัตถุเป็นที่เกิดของจิตได้ยิน กุศลวิลาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ฆานวัตถุเป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่น กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ชิวหาวัตถุเป็นที่เกิดของจิตลิ้มรส กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ถ้าขณะนี้อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวกำลังปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย  กาย-วิญญาณก็เกิดที่กายปสาทะซึ่งขณะนั้นเป็นกายวัตถุ กรรมทำให้กายปสาทะเกิดซึมซาบอยู่ทั่วตัว กายวัตถุจึงเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ กุศลวิบาก ๑ ดวง  และ อกุศลวิบาก ๑  ดวง รวมเรียกจิต ๑๐ ดวงนี้ว่า ทวิปัญจวิญญาณ (จิต ๕ คูน ๒ อันเป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบาก) จิตอื่นๆ นอกจากนี้เกิดที่หทยวัตถุ เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ตั้งแต่ขณะแรกที่เกิด และขณะต่อ ๆ ไป จิตก็ต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใดใน ๖ รูป ในขณะนี้ก็ไม่ลืมว่า ในภูมิที่มีขันธ์ ๕  จิตทุกขณะต้องเกิดที่รูปหนึ่งในบรรดา ๖ รูป จำกัดด้วยจำนวน ๖ รูป ไม่ใช่รูปอื่นนอกจากนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ก็พิจารณาได้ว่า โลภมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ โทสมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ   โมหมูลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ กุศลจิตเกิดที่ไหน? เกิดที่หทยวัตถุ เปลี่ยนไม่ได้ด้วย นี้คือ ไม่ใช่เรา ทั้งหมดประมวลมาแล้วก็เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริง ว่า ธรรมเป็นธรรมไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดแล้วดับจนลวงให้เห็นว่าไม่ดับ จึงทำให้เข้าใจผิดว่าเที่ยงทำให้เข้าใจผิดว่าไม่ดับ กว่าสัญญาที่เป็นอัตตสัญญา (ความจำว่าเป็นตัวตนหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด) ที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานจะค่อย ๆ คลายไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ต้องอาศัยปัญญา ความเข้าใจจากขั้นการฟัง จนกระทั่งสามารถรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งในทุกคำที่ทรงแสดงว่าทั้งหมดที่เป็นวาจาสัจจะ นั้น เพื่อความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ