[คำที่ ๑๘๒] สมฺมติมรณ

 
Sudhipong.U
วันที่  19 ก.พ. 2558
หมายเลข  32302
อ่าน  339

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สมฺมติมรณ

คำว่า สมฺมติมรณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  สำ มะ ติ มะระ นะ] มาจากคำว่า สมฺมติ (รู้ตรงกัน,รู้พร้อมกัน,สมมติ) กับคำว่า มรณ (ความตาย) รวมกันเป็น สมฺมติมรณ  แปลว่า  ความตายโดยสมมติ,  รู้กันว่าตาย  เป็นคำที่กล่าวถึงขณะสุดท้ายในชาตินี้ คือ จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เป็นการตายในชาติหนึ่ง จึงรู้ได้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ตาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส แสดงถึงสมมติมรณะไว้ว่า

“คำนี้ว่า   นายติสสะตาย   นายปุสสะตาย  ดังนี้    ชื่อว่าสมมติมรณะ”

และข้อความจากพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิต ที่ในแต่ละชาติจะต้องสิ้นสุดที่ความตาย ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ควรที่จะทำอะไร ดังนี้คือ

บุตรทั้งหลาย  ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดา ก็ไม่มีเพื่อต้านทาน ถึงพวกพ้องก็ไม่มีเพื่อต้านทาน, เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี; บัณฑิตทราบอำนาจ-ประโยชน์นั้นแล้ว พึงสำรวมในศีล ชำระทางไปพระนิพพาน โดยเร็วทีเดียว


ชีวิตของคนเรานั้น เป็นการเกิดดับสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะๆ เรื่อยไป จิตขณะหนึ่งเกิดแล้วดับไปเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นเป็นไป   เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิดจนตายจากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ที่กิเลสเกิดขึ้นมากมายหลายชนิดนั้นก็เพราะได้สะสมมาแล้วในอดีต เมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ กิเลสก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างเช่นในชาตินี้ และเพราะยังมีกิเลสอยู่นี้เอง การเวียนว่ายตายเกิด  จึงยังไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้มีสภาพธรรมเกิดดับสืบต่อไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏฏ์

การเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นแสนสั้นมาก ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวันนั้น ก้าวไปใกล้ความตายเข้าไปทุกทีๆ ในพระไตรปิฎก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรม ด้วยข้ออุปมาให้เห็นถึงความเล็กน้อยของชีวิตไว้มากมาย เพื่อให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจตามความเป็นจริง  เพื่อจะได้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ เช่น ชีวิตเปรียบเหมือนน้ำค้างที่อยู่บนยอดหญ้า พอพระอาทิตย์ขึ้นมา ก็เหือดแห้งไป  ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ชีวิตเปรียบเหมือนรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ ที่กลับเข้าหากันเร็ว ไม่ตั้งอยู่นาน ชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น หรือแม้กระทั่งอุปมาเหมือนกับการทอผ้าของช่างทอผ้า ขณะที่ทอผ้า แผ่นผ้าก็จะค่อยๆ เต็มขึ้น ส่วนที่ยังทอไม่เสร็จก็จะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มผืนในที่สุด ชีวิตชีวิตมนุษย์ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งในที่สุดก็จะต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น 

ตามความเป็นจริงแล้ว ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นั้น บุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา หรือ ญาติพี่น้องเป็นต้น ย่อมสามารถเป็นที่พึ่ง สามารถช่วยเหลือทำกิจในด้านต่างๆ ให้แก่เราได้ แต่พอถึงเวลาตาย บุคคลเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะช่วยต้านทานไว้ได้เลย ใครๆ ก็ช่วยเราไม่ได้เลยจริงๆ ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตายในชาตินี้ (และยังจะต้องเกิดอีกต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะไปเกิดเป็นอะไร ในภพไหน ตามควรแก่กรรมที่จะนำเกิด ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองจากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึงซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นวันใด เวลาใด อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ ด้วยการเป็นคนดี เจริญกุศลบ่อยๆ เนืองๆ และไม่ละเลยในการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ให้เข้าใจ เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นคนดียิ่งขึ้น ก็คือ ความเข้าใจพระธรรม และประการที่สำคัญ บุคคลผู้ไม่ประมาทในชีวิตอันมีประมาณน้อยนี้ ย่อมจะไม่เดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ