[คำที่ ๑๘๓] ญานสมฺปยุตฺต

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ก.พ. 2558
หมายเลข  32303
อ่าน  468

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ญาณสมฺปยุตฺต

คำว่า ญาณสมฺปยุตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  ยา - นะ -สำ - ปะ - ยุด -ตะ] มาจากคำว่า ญาณ (ปัญญา,ความเข้าใจถูกเห็นถูก) กับคำว่า สมฺปยุตฺต (ประกอบทั่วพร้อม) รวมกันเป็น ญาณสมฺปยุตฺต แปลว่า ประกอบทั่วพร้อมด้วยปัญญา,ประกอบด้วยปัญญา แปลทับศัพท์เป็น ญาณสัมปยุตต์, คำว่า สัมปยุตต์ นั้น เฉพาะคำนี้ หมายถึง การเกิดประกอบร่วมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งสามารถเข้ากันได้สนิท คือ จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ญาณสัมปยุตต์ แล้ว ก็เป็นการกล่าวถึงสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันในขณะนั้น โดยมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย หรือ ประกอบทั่วพร้อมด้วยปัญญา ตามข้อความจาก อัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

บทว่า ญาณสมฺปยุตฺตํ แปลว่า สัมปยุตต์ (ประกอบ) ด้วยญาณ อธิบายว่า ประกอบด้วยอาการมีการเกิดพร้อมกันเป็นต้น เสมอกัน. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ญาณ นั้น สัมปยุตต์ ด้วยลักษณะนี้ คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน มีวัตถุอันเป็นที่เกิดที่เดียวกัน(สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เพราะในภูมิที่ไม่มีรูป คือ อรูปพรหมภูมิ จิตและเจตสิก อาศัยกันและกันเกิดขึ้น) และ มีอารมณ์เดียวกัน.


แต่ละบุคคลสะสมกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อมีความเข้าใจว่า กุศลธรรม มีมาก จึงมีการเห็นโทษของกุศลธรรม มีการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากุศลธรรม เพื่อการละกุศลธรรม เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น เป็นไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล และไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ไตร่ตรองพระธรรมบ้าง จิตก็จะเป็นกุศลโดยส่วนใหญ่

กุศลธรรมทั้งหลาย ที่จะเป็นเพื่อนสนิท หรือเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ก็ต้องเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา คือ กุศลที่ประกอบด้วยความเข้าใจถูก เห็นถูก ซึ่งมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ในขั้นการฟัง ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรม ความเข้าใจในขั้นที่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง จนถึงขั้นสูงสุดคือประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เป็นที่พึ่งที่แท้จริง ซึ่งก็คือ กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือกุศลขั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน คือ การระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพื่อค่อยๆ สะสมความเข้าใจจนกว่าจะเป็นปัจจัย ทำให้สามารถที่จะละคลายกิเลสได้ตามลำดับ ซึ่งจะขาดความเข้าใจในขั้นของการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ไม่ได้เลย

กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา (หรือ กุศล ญาณสัมปยุตต์) มีคุณมาก เป็นกุศลธรรมที่ประกอบด้วยความเข้าใจถูก คือ ค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมและ มีการอบรมเจริญให้มากขึ้น จนเห็นโทษของอกุศลธรรมและ รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้

ปัญญา (ความเข้าใจถูก  เห็นถูก) เป็นสังขารขันธ์ซึ่งปรุงแต่งจิต ให้มีการสะสมและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง บุคคลผู้จะที่เดินทางไกล เพื่อจะออกจากสังสารวัฏฏ์ ออกจากภพภูมิ ออกจากการเกิดดับในภพภูมิต่าง ๆ  ออกจากทุกข์โดยประการทั้งปวง นั้น ก็ต้องมีการสะสมกุศลธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นปัจจัย เป็นเหตุที่สำคัญ เป็นเพื่อนสนิท เป็นมิตรที่คอยอุปถัมภ์ที่จะให้ผลข้างหน้า คือ สามารถทำให้เกิดในสุคติภูมิ แล้วยังสะสมเป็นปัจจัยให้มีการได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ต่อไปอีก เพื่อที่จะได้อบรมเจริญกุศลธรรมจนกว่าจะถึงการดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท(ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย) และออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ในที่สุด     

เพราะฉะนั้น ประโยชน์ของการเกิดมาเป็นมนุษย์และมีชีวิตอยู่จนถึงขณะนี้ ก็คือ ค่อยๆ สะสมกุศลธรรมซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในภพปัจจุบัน และยังเป็นประโยชน์ที่จะสะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้า จนกว่าจะบรรลุถึงประโยชน์อย่างสูงสุด คือ การดับกิเลสตามลำดับได้ในที่สุด      ซึ่งจะต้องเป็นกุศลธรรมที่ประกอบด้วยปัญญา คือ กุศลธรรม ที่เป็นไปกับความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง 

พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อปัญญาโดยตลอด ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด เกื้อกูลในทุกระดับขั้น ตั้งแต่เกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน จนถึงสูงสุด คือ ดับกิเลสจนหมดสิ้น พ้นจากกิเลส พ้นจากทุกข์โดยประการทั้งปวง.

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ