[คำที่ ๑๘๕] ทุกฺขทุกฺข

 
Sudhipong.U
วันที่  12 มี.ค. 2558
หมายเลข  32305
อ่าน  579

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทุกฺขทุกฺข

คำว่า ทุกฺขทุกฺข เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า  ทุก - ขะ - ทุก - ขะ] มาจากคำ ๒ คำ รวมกัน คือ ทุกฺข (สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ คือ ทนได้ยาก ได้แก่ทุกขเวทนา) กับ คำว่า ทุกฺข (สภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เนื่องจากเป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ตั้งอยู่ไม่ได้) รวมกันเป็น ทุกฺขทุกฺข แปลได้ว่า สภาพธรรมที่เป็นทุกข์เพราะทนได้ยาก แปลทับศัพท์เป็น ทุกขทุกข์ เป็นการกล่าวถึงทุกข์ทางกายและทางใจ ตามข้อความจาก สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก พระวิภังคปกรณ์ ว่า 

“ทุกขเวทนาที่เป็นไปทางกายและจิต ชื่อว่า ทุกขทุกข์ เพราะเป็นทุกข์ทั้งโดยสภาวะ ทั้งโดยชื่อ”.


ชีวิตประจำวันแต่ละขณะ เป็นทุกข์ เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืนอยู่ตลอด จึงกล่าวได้ว่า บุคคลผู้ที่เป็นทุกข์ ก็ไม่รู้ว่าเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าความทุกข์หรือสภาพที่เป็นทุกข์นั้น มีหลายขั้น ตั้งแต่ทุกข์ที่ปรากฏ เป็นทุกข์อย่างหยาบๆ ไปจนกระทั่งถึงทุกข์ที่มองไม่เห็น คือ ทุกข์ของสังขารธรรม (สภาพธรรมที่เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่ง) ขณะนี้ชื่อว่า สังขารธรรมเป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป

ความทุกข์ที่มองไม่เห็น แต่ว่าเกิดอยู่ทุกขณะ ก็คือสภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เช่น  ในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้  กำลังได้ยินอย่างนี้ กำลังคิดนึกอย่างนี้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้ทุกข์ ก็จะต้องเป็นปัญญาที่ละเอียดขึ้น จึงจะสามารถพิจารณาเห็นสภาพที่เป็นทุกข์ของสังขารธรรมที่แต่ละคนยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา หรือว่าเป็นของเราได้

ถ้าจะกล่าวโดยประเภทของทุกข์ ที่เป็นทุกข์จริงๆ พิจารณาเห็นได้จริงๆ  ซึ่งเป็นทุกขทุกข์ นั้น มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ทุกข์ทางกาย กับ ทุกข์ทางใจ

ทุกข์ทางกาย ได้แก่ ทุกขเวทนาที่เกิดร่วมกับกายวิญญาณ อกุศลวิบาก ทุกข์ทางกาย ไม่ว่าจะปวดหัว ตัวร้อน ตลอดจนถึงเป็นโรคภัยไข้เจ็บประการต่างๆ นั้น ขณะที่ลักษณะอาการของทุกข์ทางกายเกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยอาศัยกายปสาทเป็นทวาร คือ เป็นทางที่รู้รูปที่กำลังกระทบสัมผัสกาย ซึ่งไม่น่าพอใจ เป็นปัจจัยให้ทุกขเวทนาเกิดขึ้น เป็นผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว บุคคลบางคนขณะใดที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ก็สามารถพิจารณารู้ลักษณะสภาพของนามธรรมที่กำลังประกอบด้วยความรู้สึกไม่สบายทางกาย ในขณะนั้นก็จะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นเพียงชั่วขณะที่ต่างกับเห็น ต่างกับได้ยิน ต่างกับคิดนึก เพราะฉะนั้น บางคนแม้ว่ากายเป็นทุกข์จริง แต่ว่าใจไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ จึงสามารถมีความแช่มชื่นได้ แม้ในขณะที่กายเป็นทุกข์

ต้องแยกระหว่างทุกขเวทนาทางกายกับโทมนัสเวทนาทางใจ โดยวิสัยของผู้ที่หลงลืมสติ เวลาที่ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ใจที่จะไม่เดือดร้อน กระสับกระส่าย เป็นทุกข์ กระวนกระวายด้วย ย่อมไม่มี เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ทุกขเวทนาเกิด จะให้ใจเป็นสุข นั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก  นอกจากจะเป็นผู้มีปกติอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง

วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ทุกข์ต้องมี มากหรือน้อยแล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้น ถ้ายังแข็งแรงดีอยู่ ก็ยังไม่ค่อยจะรู้สึกว่า กายเป็นทุกข์เท่าไร แต่ว่าทางใจเดือดร้อนบ้างไหม แม้ว่าทางกายไม่ได้เป็นทุกข์ และในระหว่างทุกข์กายกับทุกข์ใจ แต่ละท่านก็จะสังเกตได้ว่า ท่านสามารถที่จะทนอย่างไรได้มากกว่ากัน เพราะว่าบางคนอาจจะเป็นคนแข็งแรง ทุกข์กายทนได้ แต่พอถึงเรื่องทุกข์ใจ ทนไม่ได้เลย ก็ย่อมเป็นไปได้ หรือสำหรับบางคนเป็นผู้ที่จิตใจเข้มแข็ง ไม่ค่อยจะหวั่นไหวเรื่องของทางใจ แต่ว่าพอถึงทางกาย เป็นผู้ที่ทนไม่ได้เลยต่อการเจ็บป่วย ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละท่านจะสะสมมาอย่างไร บุคคลผู้ที่จะดับทุกข์ทางใจ คือ ไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกเลย ต้องเป็นผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล จึงจะดับโทมนัส-เวทนาและโทสมูลจิตได้เป็นสมุจเฉท(ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)

สำหรับทุกข์ทางกาย นั้น แม้แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก่อนที่จะปรินิพพาน เพราะเหตุว่าทุกคนได้กระทำกรรมมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นโอกาสที่กรรมใดจะให้ผล แม้พระอรหันต์ทั้งหลายผู้ยังไม่ปรินิพพาน ก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้ทุกข์ทางกายเกิดขึ้น 

การที่จะพ้นทุกข์ในสังสารวัฏฏ์นั้น ก็จะต้องพ้นทั้งทุกข์กายและทุกข์ใจ โดยการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมจนถึงขั้นที่จะไม่มีการเกิดขึ้นอีกเลย มิฉะนั้นแล้ว ถ้ายังมีการเกิดขึ้น ที่จะพ้นจากทุกข์กาย ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกข์กายเกิดขึ้นเพราะอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัย ส่วนที่จะพ้นจากทุกข์ใจนั้น ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนกระทั่งถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงสามารถที่จะไม่มีโทสมูลจิตเกิดอีกได้เลย

ทั้งหมดเป็นเรื่องของปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับจริงๆ ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ