[คำที่ ๑๘๖] อกุสลเจตสิก

 
Sudhipong.U
วันที่  19 มี.ค. 2558
หมายเลข  32306
อ่าน  369

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "อกุสลเจตสิก"

คำว่า อกุสลเจตสิก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - กุ- สะ- ละ - เจ - ตะ - สิ  - กะ] มาจากคำว่า อกุสล (ธรรมฝ่ายที่ไม่ดี, ธรรมที่ตรงกันข้ามกับกุศล, อกุศล) กับคำว่า  เจตสิก(สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) รวมกันเป็น อกุสลเจตสิก เขียนเป็นไทยได้ว่า อกุศลเจตสิก แปลโดยใจความได้ว่า เจตสิกที่เป็นอกุศลซึ่งเกิดกับจิตใด ก็ทำให้จิตนั้นเป็นอกุศลจิต เป็นการกล่าวถึงเจตสิกที่ไม่ดี  ๑๔ ประเภทที่เกิดกับจิตชาติอกุศลเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตชาติอื่นเลย มี โลภะ โทสะ โมหะ มิจฉาทิฏฐิ  มานะ เป็นต้น ดังตัวอย่างเจตสิกที่เป็นอกุศล คือ ทิฏฐิเจตสิก(มิจฉาทิฏฐิ) จากอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ว่า

“คำว่า มิจฺฉาทิฏฺฐิ ได้แก่ ความเห็นไม่มีตามความเป็นจริง  อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เห็นคลาดเคลื่อนโดยถือเอาผิด,   ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ เพราะอรรถว่า เป็นทิฏฐิอันบัณฑิตเกลียด เพราะนำมาแต่ความพินาศ”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นธรรมในชีวิตประวัน    จากที่ไม่เข้าใจมาก่อนก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น มั่นคงในความเป็นจริงของธรรมยิ่งขึ้น แม้แต่ในเรื่องของอกุศลเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่จะต้องเกิดกับอกุศลจิตเท่านั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูก ถ้าไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะระลึกถึงอกุศลของตนเองเพื่อการขัดเกลาได้เลย ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงไว้มากอย่างนี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสก็ยังไม่สามารถที่จะละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ

สำหรับอกุศลเจตสิก มี ๑๔ ประเภท ได้แก่  คือ โมหเจตสิก (ความหลง ความไม่รู้) ๑ อหิริกเจตสิก (ความไม่ละอายต่ออกุศล) ๑ อโนตตัปปเจตสิก (ความไม่เกรงกลัวต่ออกุศล) ๑ อุทธัจจเจตสิก (ความฟุ้งซ่าน ไม่สงบ) ๑ โลภเจตสิก (ความติดข้องต้องการ) ๑ ทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม) ๑ มานเจตสิก (ความสำคัญตน) ๑ โทสเจตสิก (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ) ๑ อิสสาเจตสิก (ความริษยา เห็นคนอื่นได้ดีมีความสุขแล้วทนไม่ได้)  ๑ มัจฉริยเจตสิก (ความตระหนี่หวงแหน  ไม่ต้องการให้สมบัติของตนทั่วไปแก่คนอื่น) ๑ กุกกุจจเจตสิก (ความรำคาญใจเพราะได้ทำอกุศล และ ไม่ได้ทำกุศล) ๑ ถีนเจตสิก (ความท้อแท้ หดหู่) ๑ มิทธเจตสิก (ความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม ) ๑ วิจิกิจฉาเจตสิก (ความลังเลสงสัยในสภาพธรรม)  ๑

เป็นการกล่าวถึงสิ่งที่มีจริง   เพื่อให้พิจารณาลักษณะของอกุศลเจตสิก ซึ่งทุกคนมี ไม่ให้ลืมว่า ทุกคนมีโมหเจตสิก มีอหิริกเจตสิก มีอโนตตัปปเจตสิก มีอุทธัจจเจตสิก มีโลภเจตสิก มีทิฏฐิเจตสิก มีมานเจตสิก มีโทสเจตสิก มีอิสสาเจตสิก มีมัจฉริยเจตสิก มีกุกกุจจเจตสิก มีถีนเจตสิก มีมิทธเจตสิก มีวิจิกิจฉาเจตสิก ถ้ายังไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล อกุศลเจตสิกเหล่านี้ก็เต็มทั้ง ๑๔ ประเภท ซึ่งอกุศลเจตสิกเหล่านี้ก็เกิดตามควรแก่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ

เป็นที่น่าพิจารณาว่า มีใครลืมไปบ้างว่ามีอกุศลเจตสิกเหล่านี้ วันหนึ่งๆ เคยคิด เคยพิจารณาลักษณะของอกุศลธรรมเหล่านี้บ้างไหม ทั้งๆที่มีอยู่มากในวันหนึ่งๆ ซึ่งจะขาดโมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลสาธารณเจตสิก(อกุศลเจตสิกที่ทั่วไปกับอกุศลจิตทุกประเภท) ซึ่งอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ประเภทนี้ จะต้องเกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่มีเว้น

ชีวิตประจำวันมีโลภเจตสิกเป็นประจำ ทำให้โลภมูลจิต(จิตที่มีโลภะเป็นมูล)เกิดขึ้น ขณะใดที่มีความเห็นผิดในข้อปฏิบัติ มีความต้องการผลอย่างรวดเร็ว หรือต้องการที่จะทำ โดยที่ว่าไม่อบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกซึ่งเป็นความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะใดซึ่งไม่ได้มีความเห็นผิด แต่มานะ ความสำคัญตน ก็อาจจะเกิดขึ้นได้  ซึ่งทุกคนยังมีอยู่ ผู้ที่ไม่มีมานเจตสิกต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น ขณะนั้นพอที่จะระลึกได้ไหมว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะของอกุศลธรรม ซึ่งยังมี ยังไม่ได้ถูกดับ

การที่กล่าวถึงอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท ก็เป็นการทบทวน ให้ไม่ลืมว่าอกุศลจิต ๑๒ ดวง ประกอบด้วยอกุศลเจตสิกอะไรบ้าง กล่าวคือ โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และ อุทธัจจเจตสิก ต้องเกิดกับอกุศลจิตทุกดวง คือทั้ง ๑๒ ดวง จะขาดอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ประเภทนี้ไม่ได้

ถ้าเป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) ก็ต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิก ที่เป็นอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ประเภท และโลภเจตสิกด้วย และในบางครั้งก็ประกอบกับทิฏฐิเจตสิก และในบางครั้งก็ประกอบกับมานเจตสิก

สำหรับโทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) ก็ต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย นอกจากอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ประเภทแล้ว ก็จะต้องประกอบด้วยโทสเจตสิก  และในบางครั้งก็จะประกอบด้วยอิสสาเจตสิก  บางครั้งก็ประกอบด้วยมัจฉริยเจตสิก  บางครั้งก็ประกอบด้วยกุกกุจจเจตสิก ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

และเมื่อเป็นโมหมูลจิต (จิตที่มีโมหะเป็นมูล) ดวงที่ ๑ ที่เป็นไปกับด้วยความสงสัยในสภาพธรรม ก็ต้องประกอบด้วยอกุศลเจตสิก คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา แต่เมื่อเป็นโมหมูลจิตดวงที่ ๒ ซึ่งเป็นอกุศลจิตที่มีกำลังอ่อนที่สุดนั้น ก็มีอกุศลสาธารณเจตสิก ๔ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ เกิดร่วมด้วย และประการที่สำคัญ คือ อกุศลเจตสิกจะเกิดได้เฉพาะกับอกุศลจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับจิตชาติอื่นเลย เมื่อเริ่มฟังเริ่มศึกษาพระธรรมก็พอที่รู้ได้ว่า ถ้าอกุศลจิตเกิดขณะใด  ก็จะต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย

นี้คือชีวิตประจำวัน ขณะหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นเป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเป็นไป และไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และจิตแต่ละขณะที่จะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกประการต่าง ๆ ปรุงแต่ง เป็นสังขารธรรม เกิดร่วมกันทำให้จิตนั้นๆเป็นสภาพอย่างนั้นตามควรแก่เจตสิกประการนั้นๆ แล้วก็ดับไปตลอดเวลา ตั้งแต่อดีตจนถึงในขณะนี้ และตลอดไปจนถึงอนาคต เพราะฉะนั้นแล้ว ประโยชน์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง แม้อกุศลเจตสิกประการต่าง ๆ ก็คือ ธรรมที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 2 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ