[คำที่ ๑๘๗] สลฺล

 
Sudhipong.U
วันที่  26 มี.ค. 2558
หมายเลข  32307
อ่าน  594

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์  สลฺล

คำว่า สลฺล เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัน - ละ] แปลว่า ลูกศร มีความหมายธรรมดาที่หมายถึงลูกศรทั่ว ๆ ไป และยังมีความหมายที่ลึกซึ้ง โดยหมายถึงลูกศรคือกิเลส ที่เสียบปักอยู่ในจิตของแต่ละคนซึ่งเป็นผู้มีกิเลสอยู่ และเป็นสิ่งที่ถอนออกได้ยาก ตราบใดที่ยังไม่สามารถถอนลูกศรคือกิเลสออกได้ ก็ยังถูกกิเลสเสียบแทง ทำให้เดือดร้อน เป็นทุกข์ และท่องเที่ยววนเวียนไปในสังสารวัฏฏ์อย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งจะแตกต่างจากผู้ที่ถอนลูกศรคือกิเลสออกได้แล้วอย่างสิ้นเชิง ตามข้อความจากพระไตรปิฎก ดังนี้

“บทว่า ลูกศร ได้แก่ ลูกศร ๗ อย่าง คือ ลูกศรคือราคะ(ความยินดีพอใจ) ลูกศรคือโทสะ(ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) ลูกศรคือโมหะ (ความหลง ความไม่รู้) ลูกศรคือมานะ (ความสำคัญตน) ลูกศรคือทิฏฐิ (ความเห็นผิด,มิจฉาทิฏฐิ) ลูกศรคือความโสกะ (ความเศร้าโศก เสียใจ) ลูกศรคือความสงสัย ลูกศรเหล่านี้ อันผู้ใดละได้แล้ว ตัดขาดแล้ว สงบได้แล้ว ระงับได้แล้ว ทำให้ไม่ควรเกิดขึ้น เผาแล้วด้วยไฟคือญาณ ผู้นั้น เรียกว่า เป็นผู้ถอนลูกศรเสียแล้ว”

(จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส)

สัตว์อันกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น ใด เสียบติดอยู่แล้ว ย่อมแล่นไปยังทิศทั้งปวง (คือ ทุจริต ทั้งปวง) บัณฑิตถอนกิเลสดุจลูกศรมีราคะเป็นต้น นั้น ออกได้แล้ว ย่อมไม่แล่นไปยังทิศ และไม่จมลงในโอฆะทั้งสี่ (ห้วงน้ำคือกิเลส ๔ คือ ความยินดีในกาม, ความเห็นผิด, ความยินดีในภพ, และความไม่รู้)

(จาก พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต อัตตทัณฑสูตร)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แสดงถึงสิ่งที่มีจริง โดยละเอียดโดยประการทั้งปวง แม้แต่ในเรื่องของกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้มากทีเดียว ทรงแสดงโดยนัยต่างๆ ด้วยข้ออุปมาเปรียบเทียบมากมาย เพื่อให้พุทธบริษัทได้เข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และเพื่อให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลสในชีวิตประจำวัน ไม่ควรเลยที่จะเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสต่อไป เพราะกิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้เข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงได้เลย

จะต้องมีความละเอียดที่จะรู้เรื่องของกิเลสที่ทุกคนมีในวันหนึ่งๆ ที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า เป็นกิเลสประเภทไหน และมากอย่างไร เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ เป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ตามอารมณ์ที่ปรากฏนั้นๆ และอารมณ์ก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ทำให้เห็นได้ว่า กิเลสมากทีเดียวที่เป็นไปตามอารมณ์นั้นๆ

ไม่ว่าจะเป็นจิตแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ ก็ไม่สามารถจะเยียวยาและถอนลูกศร คือ กิเลสออกจากใจได้ นอกจากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ เมื่อได้ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ก็น้อมประพฤติปฏิบัติตาม โดยที่ไม่ทำให้ร่างกายเป็นแผล และไม่เบียดเบียนร่างกายเลย ก็สามารถที่จะถอนลูกศรที่เสียบอยู่ในใจของทุกคนออกได้

ตามความเป็นจริงแล้ว ทุกครั้งที่เห็น ทุกครั้งที่ได้ยิน เป็นต้น นำมาซึ่งกิเลส มีความติดข้องต้องการ เป็นต้น ถูกลูกศรคือกิเลสเสียบแล้ว เพราะไม่รู้ความจริง หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส ถ้ามีความกระวนกระวายที่เกิดเพราะความปรารถนา เพราะความพอใจ ในขณะนั้นย่อมไม่สงบ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง เพราะเหตุว่าถ้าสุขจริง สงบจริง ก็ไม่ต้องการอะไร แต่เมื่อต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ยังเพลิดเพลินพอใจในสิ่งที่ปรากฏอยู่ ย่อมแสดงว่าในขณะนั้นไม่สงบเลย ในเมื่อเป็นอกุศลแล้ว จะสงบไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น แต่ละคนต้องเห็นกิเลสของตัวเองก่อน ด้วยปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก และยิ่งเห็นละเอียดขึ้นเท่าไร ยิ่งเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะรู้ว่าได้ทำกุศลไว้มากเท่าไร เพราะเหตุว่าถ้ารู้ว่าทำกุศลไว้มากเท่าไร โดยที่ไม่พิจารณากิเลสของตนเอง จะไม่รู้เลยว่า กิเลสหรืออกุศลธรรมมากกว่ากุศลที่ได้ทำไว้แล้วมากทีเดียว เพราะฉะนั้น ทำกุศลเท่าไรก็ยังไม่พอ และถ้ารู้ว่ามีกิเลสมากเท่าไร ก็เป็นผู้ตรงจริงๆ ว่า กิเลสประเภทใดมีมากมีน้อย และน่ารังเกียจแค่ไหน ซึ่งกิเลสและโทษภัยของกิเลสก็เป็นสิ่งที่เห็นยาก ยกตัวอย่างโลภะ(ความติดข้องต้องการ) รู้ว่าไม่ดี เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส แต่ว่าการที่จะเห็นโทษเห็นภัยของโลภะ ก็ยากอย่างยิ่ง และการที่จะเป็นผู้ดับกิเลส ก็เป็นเรื่องที่ยากและไกลแสนไกล ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดขึ้น ต้องพิจารณาธรรมในชีวิตประจำวันโดยทั่ว โดยตลอด และสำหรับการเห็นโทษ นั้น ไม่ใช่เห็นโทษแต่เพียงโทษของกิเลส แต่ต้องเห็นแม้โทษของกุศลวิบาก คือ ผลของกุศลกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นยาก เพราะเหตุว่าบางคนทำกุศล เพราะเหตุว่าหวังผลของกุศล และบางคนเพราะกลัวผลของอกุศล จึงทำกุศล เพื่อที่จะได้ผลของกุศลนั้นๆ แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญาแล้ว ต้องเห็นแม้โทษของผลของกุศลด้วย เพราะเหตุว่าถ้าไม่เห็นโทษของผลของกุศล ก็ไม่สามารถจะละความติด ความพอใจในผลของกุศลนั้นๆ ได้เลย

ทำให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงจริงๆ ว่า เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย มีความติดข้องต้องการ เป็นต้น จนกว่าจะสามารถดับได้จนหมดสิ้น ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์ สามารถถอนลูกศรคือกิเลสที่ทิ่มแทงจิตใจได้จริง ๆ ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ