[คำที่ ๑๘๘] อนุสย

 
Sudhipong.U
วันที่  2 เม.ย. 2558
หมายเลข  32308
อ่าน  513

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนุสย

คำว่า อนุสย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ – นุ – สะ – ยะ] มาจากคำว่า  อนุ (ตาม) กับคำว่า  สย (นอน) รวมกันเป็น อนุสย เขียนเป็นไทยได้ว่า อนุสัย แปลว่า นอนเนื่องหรือตามนอน ซึ่งเป็นการแสดงถึงกิเลสที่นอนเนื่องสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เพราะยังละไม่ได้ มีความติดข้องต้องการในกาม เป็นต้น ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ อนุสัยกิเลสก็ยังมีอยู่ครบ ข้อความจากปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย   เถรคาถา  กัปปเถรคาถา   ได้แสดงความหมายของอนุสัยไว้ว่า “ที่ชื่อว่า อนุสัย  เพราะอรรถว่า นอนเนื่องในสันดาน โดยความที่ยังละไม่ได้  ได้แก่  กิเลสอันนอนเนื่องอยู่ในสันดาน  มี กามราคะ(ความยินดีในกาม) เป็นต้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด สูงสุดแล้วเพื่อการดับกิเลสได้จนหมดสิ้น ไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย นั่นหมายความว่า เป็นไปเพื่อดับอนุสัยกิเลสอันนอนเนื่องสะสมสืบต่ออยู่ในจิตจนเป็นเหตุให้มีกิเลสในระดับต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่  อนุสัยกิเลสเป็นกิเลสที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่ากิเลสมี ๓ ระดับ คือ กิเลสขั้นหยาบ เห็นได้จากการประพฤติทุจริตล่วงศีล มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ว่าร้าย ประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า กิเลสนั้นหยาบและมีกำลัง, กิเลสที่ไม่ถึงกับล่วงศีลที่ยังไม่เป็นการประพฤติทุจริตต่างๆ เมื่อเกิดแล้วแต่ยังไม่แสดงออกให้รู้ได้ในขณะนั้นๆ เป็นกิเลสขั้นกลาง เช่น ความขุ่นใจมี แต่ไม่พูด ไม่แสดงออกทางกาย ทางวาจา หรือ โลภะมี แต่ไม่แสดงออก ก็ไม่มีผู้อื่นรู้ว่ามีโลภะเกิดขึ้นทำกิจการงานร่วมกับจิต กิเลสขั้นกลางนี้เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตแต่ยังไม่ถึงกับล่วงศีลหรือกระทำทุจริตกรรม แต่กิเลสขั้นหยาบ และกิเลสขั้นกลาง จะเกิดได้ก็เพราะเหตุว่ามีกิเลสขั้นละเอียดซึ่งไม่มีใครรู้เลย นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงตรัสรู้ว่าการที่จะดับกิเลสหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นอย่างเด็ดขาด) ได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสซึ่งเป็นพืชเชื้อ ที่เป็นเหตุให้กิเลสขั้นกลางและกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ กิเลสระดับที่ละเอียด คือ อนุสัยกิเลส ยังมีอยู่ ส่วนพระอรหันต์ ไม่มีอนุสัยกิเลสและไม่มีกิเลสระดับใดๆ ทั้งสิ้น พระอรหันต์ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ท่านไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลส เพราะท่านดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ย่อมหวั่นไหวไปด้วยอำนาจของกิเลสประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ เป็นต้น

ถ้ากล่าวถึงผู้ที่ยังไม่สามารถละกิเลสได้นั้น ก็สามารถพิจารณาในความเป็นจริงของอนุสัยกิเลสได้  ดังนี้  

ถ้าสะสมความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ความพอใจก็ไม่สูญหาย ยังคงปรากฏเป็นความพอใจในสิ่งนั้นๆ อยู่ในปัจจุบันชาติ  นี้เป็นลักษณะที่โลภะที่เกิดขึ้น สะสมสืบเนื่องจากอดีตชาติที่ผ่าน ๆ มาจนถึงปัจจุบันชาติ สะสมเป็นพืชเชื้ออยู่ในจิตสันดาน คือ การเกิดดับสืบต่อกันของจิต ทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน ตามอนุสัยกิเลส โลภะที่ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น  รส  โผฏฐัพพะ เกิดแล้วดับไป สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ก็เป็นกามราคานุสัย (อนุสัย คือ ความยินดีพอใจในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส  และโผฏฐัพพะ)

บางคนเป็นคนที่หงุดหงิดง่าย บางคนก็ใจน้อย คิดมาก บางคนก็มองทุกอย่างในแง่ร้าย เห็นแต่ความผิดของคนอื่นทุกวัน โกรธ ไม่พอใจ   ขุ่นเคืองใจอยู่เสมอๆ เพราะบุคคลนั้นๆ สะสมปฏิฆานุสัย (อนุสัย คือ ปฏิฆะความกระทบกระทั่ง คือ โทสะ)

ถ้าใครสะสมความเห็นผิดไว้มาก ผู้นั้นก็จะเป็นเป็นผู้ที่มีปกติชอบคิดผิด ประพฤติปฏิบัติผิด ไม่สามารถที่จะเข้าใจตรงตามเหตุผลได้ มีความเชื่อในเรื่องมงคลตื่นข่าว เป็นต้น ความเชื่อหรือความเห็นผิดต่างๆ ถ้าสะสมไว้แล้ว แม้ในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ ไม่ควรเชื่อ ไม่มีเหตุผลเลย ก็ยังเชื่อได้ นี้ก็เป็นลักษณะของการสะสมกิเลสที่เป็นทิฏฐานุสัย 

อนุสัยกิเลสอีกประการหนึ่ง ถ้าสะสมไว้มาก ก็จะทำให้เป็นผู้ที่สำคัญตน คือ มานานุสัย จะเป็นผู้ที่มีลักษณะเย่อหยิ่ง ถือตัว ไม่สามารถที่จะรับผิดหรือขอโทษผู้อื่นได้ ขณะนั้นเป็นอกุศล ที่แต่ละคนสามารถจะพิจารณาตนเองได้ และบางคน ปกติธรรมดาก็อาจจะเป็นบุคคลที่มีเมตตา อ่อนหวาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่มานะที่ยังมีอยู่ก็เกิดขึ้นได้ เวลาที่อาจจะอยู่ในสถานการณ์บางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดความสำคัญตนได้ ถ้าบุคคลอื่นใช้วาจาที่ไม่เหมาะไม่ควร ซึ่งแต่ละคนก็สามารถที่จะพิจารณาลักษณะสภาพของจิตของตนได้ ถ้ารังเกียจอกุศลเพราะว่าเกิดหิริและโอตตัปปะ ก็จะทำให้ละคลายความสำคัญตนได้ เพราะเหตุว่าความเย่อหยิ่ง หรือความทะนงตน ความสำคัญตนนั้นเป็นกิเลสที่ละยาก ต้องถึงขั้นพระอรหันต์ จึงจะดับได้อย่างเด็ดขาดไม่เกิดอีกเลย      

นอกจากนั้นก็มีวิจิกิจฉานุสัย (อนุสัย คือ ความลังเลสงสัย) ถ้าเป็นผู้ที่มักเคลือบแคลง สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจอยู่บ่อยๆ เนืองๆ ในความเป็นจริงของธรรม เคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ เป็นต้น  ผลก็คือจะทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่สงสัย ลังเล ไม่แน่ใจอยู่ร่ำไป บางสิ่งบางอย่างควรจะเข้าใจแล้ว แต่ก็กลับไปสงสัยอีก ก็มี   นี่ก็เป็นเพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่สะสมความลังเล ความไม่แน่ใจ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

สำหรับภวราคานุสัย ได้แก่ อนุสัย คือ ความยินดีในภพ แม้ว่าจะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท ถึงความเป็นความเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว แต่ก็ยังมีความติด ความต้องการในภพอยู่ เพราะยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ต่อเมื่อใดที่ดับความยินดีความต้องการความพอใจในภพได้ จึงจะถึงความเป็นพระอรหันต์ได้

และสำหรับอวิชชานุสัย (อนุสัย คือ ความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม) เป็นเรื่องของการสะสมความไม่รู้เรื่องของนามธรรมและรูปธรรม ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่รู้ลักษณะของจิต ไม่รู้ลักษณะของเจตสิก ไม่รู้ลักษณะของรูป ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมประการต่าง ๆ  ซึ่งผู้ที่จะดับอวิชชาได้เป็นสมุจเฉท ก็คือพระอรหันต์      

แสดงให้เห็นว่ากิเลสที่ปรากฏให้รู้ได้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นกิเลสขั้นกลาง กับ ขั้นหยาบ และเพราะยังมีกิเลสขั้นละเอียดอยู่นั่นเอง จึงเป็นเหตุให้มีกิเลสขั้นกลาง และกิเลสขั้นหยาบเกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน, กิเลสขั้นละเอียดจะหมดไปได้ นั้น เมื่อมีการอบรมเจริญปัญญา รู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรม กิเลสขั้นละเอียดก็จะหมดสิ้นไปเป็นประเภทและหมดไปตามลำดับมรรคด้วย กล่าวคือ โสตาปัตติมรรค ดับ ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย

อนาคามิมรรค ดับ กามราคานุสัย และ ปฏิฆานุสัย

อรหัตตมรรค ดับ มานานุสัย ภวราคานุสัย และ อวิชชานุสัย

พระอรหันต์เท่านั้น ที่เป็นผู้ไม่มีอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในจิตอีกต่อไป

กว่าจะดำเนินไปถึงการดับอนุสัยกิเลสได้นั้น ต้องเริ่มที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ  ไม่ขาดการฟังพระธรรม และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติเดียว หรือ สองชาติเท่านั้น.  

 


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ