[คำที่ ๑๙o] ปพฺพชฺช

 
Sudhipong.U
วันที่  16 เม.ย. 2558
หมายเลข  32310
อ่าน  428

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ปพฺพชฺช

คำว่า ปพฺพชฺช เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า   ปับ  - พัด -  ชะ] มาจากรากศัพท์ว่า (ทั่ว) กับ คำว่า  วช (การเว้น)   แปลง ว เป็น พ ซ้อน พฺ ที่บทหน้า และ ซ้อน ชฺ ที่หน้า ช  จึงรวมกันเป็น ปพฺพชฺช แปลว่า การบวช ซึ่งเป็นการเว้นจากอกุศล เว้นจากเครื่องติดข้องทั้งหมดที่เคยมีเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์  มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ การบวช จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ที่สะสมมาที่จะเห็นโทษของการอยู่ครองเรือน  และมุ่งที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นจริง ๆ ยิ่งกว่าคฤหัสถ์  ไม่ใช่อยากจะบวชก็บวช ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ข้อความในอรรถกถาทั้งหลาย แสดงถึงความยากของการบวชไว้ ดังนี้

"บทว่า  ทุปฺปพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และละเครือญาติ แล้วบวชมอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก  บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา (เที่ยวบิณฑบาต) ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ เป็นการยาก"

(จาก ธัมมปทัฏฐกถา  อรรถกถา  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบท)

บทว่า ทุปฺปพฺพฺชฺชํ ความว่า การเว้นทั่ว  ชื่อว่า ทำได้ยาก เพราะการสละกองโภคสมบัติ และความห้อมล้อมของหมู่ญาติ น้อยก็ตาม มากก็ตาม แล้วบวชถวายชีวิตในพระศาสนานี้ ชื่อว่า ยาก เพราะกระทำได้โดยยาก คือ การบรรพชาทำได้โดยยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า  " ทุปฺปพฺพชฺชํ " (การบวชทำได้ยาก).

(จาก  ปรมัตถทีปนี  อรรถกถา   ขุททกนิกาย  เถรคาถา เชนตเถรคาถา)


บุคคลผู้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ว่า คับแคบ (คับแคบด้วยกุศล คับแคบด้วยกิเลส แน่นไปด้วยกิเลส แน่นไปด้วยอกุศล) มีแต่จะเป็นเครื่องพอกพูนกิเลส ให้หนาแน่นขึ้น แล้วมีอัธยาศัยน้อมไปที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์ จึงสละทุกสิ่งทุกอย่าง  สละทรัพย์สมบัติเงินทองทั้งหลายทั้งปวง  สละวงศาคณาญาติแล้วออกบวช เป็นบรรพชิต ด้วยความจริงใจ ด้วยความตั้งใจที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ ไม่ใช่บวชด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ที่สำคัญการบวชไม่ใช่เรื่องง่าย และการยินดีในการบวชก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน   

ดังนั้น ขึ้นอยู่กับความเข้าใจเป็นสำคัญ ถ้าบวชไปแล้วประพฤติผิดประการต่างๆ ล่วงละเมิดสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ นั่น เป็นอันตรายมาก เป็นการไม่เคารพยำเกรงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามรณภาพลงในขณะที่ยังมีอาบัติ (การล่วงละเมิดสิกขาบท)ติดตัว เพราะไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย มีแต่จะฉุดคร่าไปสู่อบายภูมิโดยส่วนเดียว พระภิกษุที่ตกนรก เกิดในอบายภูมิ ก็มีมากเหมือนกัน

และที่น่าพิจารณา คือ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้บวช แต่เป็นคฤหัสถ์ผู้ดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ      และมีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย กล่าวได้ว่า ชีวิตในชาตินี้ย่อมไม่เปล่าประโยชน์อย่างแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ ย่อมดีกว่าบวชไปแล้วเป็นบรรพชิตที่ไม่ดี ไม่มีความรู้ความเข้าใจพระธรรม เพราะเหตุว่า เป็นคฤหัสถ์ ก็สามารถฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมน้อมประพฤติตามพระธรรม ตามควรแก่เพศของตน สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปในภายหน้าได้ 

และประการสำคัญที่ควรพิจารณาสำหรับผู้ที่คิดว่า จะบวชเพื่อทดแทนพระคุณมารดาบิดา เพราะคำว่า บวชเพื่อทดแทนพระคุณมารดาบิดา ไม่มีในพระไตรปิฎก ไม่ได้มีปรากฏในคำสอนทางพระพุทธศาสนา มีแต่บวชเพื่อขัดเกลากิเลสของตนเอง ถ้าจะทดแทนพระคุณมารดาบิดา  ไม่ต้องบวช  เพราะเหตุว่าชีวิตของคฤหัสถ์ สามารถดูแล ตอบแทนพระคุณมารดาบิดาได้อย่างเต็มที่ สะดวก ทุกเวลา ไม่มีอะไรมากั้นเลย และหน้าที่ที่บุตรธิดาจะพึงกระทำต่อมารดาบิดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ทรงแสดงไว้ ดังนี้ คือ ท่านเลี้ยงเรามาก็ต้องเลี้ยงท่านตอบ, รับทำกิจของท่าน, ดำรงวงศ์ตระกูล,  ประพฤติตนให้เหมาะสมกับการที่จะได้รับทรัพย์มรดก และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศกุศลไปให้ท่าน นี้คือสิ่งที่บุตรธิดาพึงกระทำต่อมารดาบิดา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุตรธิดามีความรู้ความเข้าใจพระธรรม  ก็สามารถตอบแทนพระคุณได้อย่างยิ่งทีเดียว ด้วยการเกื้อกูลให้ท่านได้เข้าใจพระธรรมตามด้วย ซึ่งความเข้าใจพระธรรมนี้เอง จะเป็นที่พึ่งสำหรับท่านทั้งสองอย่างแท้จริง

ดังนั้น พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เมื่อเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามพระธรรมคำสอนแล้ว ก็จะไม่ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิด ด้วยความไม่รู้  มีแต่จะดำเนินไปในทางที่ถูกที่ควร เป็นผู้มีเหตุมีผล ไม่ทำอะไรตามๆกันโดยไม่ได้พิจารณาในความเป็นจริง เพราะมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ให้น้อมประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม และละเว้นในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง.

 

          


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ