[คำที่ ๑๙๒] ธมฺมสฺสวนมย
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมสฺสวนมย”
คำว่า ธมฺมสฺสวนมย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ - มัด - สะ - วะ - นะ - มะ - ยะ] มาจากคำว่า ธมฺม (พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) สวน (การฟัง) กับคำว่า มย (สำเร็จ) และซ้อน สฺ จึงรวมกันเป็น ธมฺมสฺสวนมย เขียนเป็นไทยได้ว่า ธัมมัสสวนมัย เป็นการแสดงถึงความดีหรือบุญ ที่สำเร็จด้วยการฟังพระธรรม ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ เป็นความดีประการหนึ่ง บุญเกิดขึ้นแล้วในขณะนั้น และที่จะเป็นการฟังพระธรรมจริงๆ ได้ประโยชน์จริงๆ ต้องเป็นการฟังคำจริงที่เป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก และมีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการฟังว่าฟังเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ขัดเกลาความไม่รู้ และกิเลสทั้งหลาย เท่านั้น ไม่ใช่ฟังเพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือแม้แต่เพียงเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าตนเองมีศรัทธาในการฟังพระธรรม เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็เป็นประโยชน์ตน คือ มีความเข้าใจเกิดขึ้น และยังสามารถกล่าวธรรมตามที่ตนเองเข้าใจเกื้อกูลแก่ผู้อื่นให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องด้วย ขณะนั้นก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ตามข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่า
“การที่คนฟังธรรม ด้วยจิตอ่อนโยน มุ่งแต่ประโยชน์เกื้อกูล มีโยนิโสมนสิการ (ใส่ใจอย่างถูกต้องแยบคาย) ไปว่า นี้เป็นอุบาย (แนวทาง) ให้ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น แน่นอน นี้เป็นบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม, แต่การที่คนๆ หนึ่ง ฟังธรรม ด้วยคิดว่า ชนทั้งหลายจักรู้จักเราว่า เป็นผู้มีศรัทธา ด้วยวิธีนี้ ไม่มีผลมากเลย”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เพราะถ้าพระธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้เอง แต่สภาพธรรมแม้ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นเราทั้งนั้น มองหาธรรมไม่เจอว่าธรรมอยู่ที่ไหน
ต่อเมื่อใดที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่ต้องไปหาธรรมเลย เพราะว่าไม่มีวันพ้นจากธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะเฉพาะธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ถ้าคิดให้ลึกๆ ให้ถูกต้องจริงๆ ก็ต้องเข้าใจถูกได้ว่าสิ่งที่ปรากฏ ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะไม่มีอะไรปรากฏเลย
ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าถ้าพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรม แต่ก็ไม่มีใครไตร่ตรองในลักษณะนี้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นคำจริงทุกคำ เป็นคำที่เกื้อกูลให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด
กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีการเกิดขึ้น มีการปรากฏ แล้วก็ดับไป ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษา เพราะว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครเพียงฟังเดี๋ยวนี้แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะว่าฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ธรรม เป็นเรื่องที่ยาก ไม่ใช่เรื่องที่เพียงฟังวันนี้แล้วทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เราอีกต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่าการอบรมเจริญปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นเป็นบุญ เป็นความดีที่ประเสริฐ เป็นเครื่องชำระจิตให้สะอาดปราศจากความไม่รู้ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เป็นบุญที่สำเร็จด้วยการฟังพระธรรม ซึ่งก็คือธรรมฝ่ายดี ได้แก่ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ