[คำที่ ๑๙๔] ปตฺตานุโมทนา

 
Sudhipong.U
วันที่  14 พ.ค. 2558
หมายเลข  32314
อ่าน  1,379

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปตฺตานุโมทนา”

คำว่า ปตฺตานุโมทนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปัด - ตา - นุ - โม - ทะ - นา] มาจากคำว่า ปตฺติ (ส่วนบุญ, ความดี) กับคำว่า อนุโมทนา (ความพลอยชื่นชมยินดี) รวมกันเป็น ปตฺตานุโมทนา แปลโดยใจความได้ว่า ความพลอยชื่นชมยินดีในความดีที่ผู้อื่นได้กระทำ การอนุโมทนาในส่วนบุญ หรือกุศล หรือความดีของผู้อื่นนั้น เป็นบุญญกิริยาวัตถุประการหนึ่ง ในบรรดาบุญญกิริยาวัตถุ ๑๐  ประการ ตามข้อความจาก ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ดังนี้   

บุญญกิริยาวัตถุ คือ การพลอยอนุโมทนาบุญ พึงทราบด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรืออนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นทำแล้วทั้งสิ้น ว่า สาธุ (ดีแล้ว)


เรื่องของกุศล ซึ่งเป็นเรื่องของความดีทั้งหลาย นั้น เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และเรื่องของอกุศล ความไม่ดีทั้งหลาย มีความติดข้อง ความโกรธขุ่นเคืองใจ ความไม่รู้ เป็นต้น ก็ละเอียดมากเช่นเดียวกัน เมื่อได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็สามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นไม่ติดข้องด้วยโลภะ ไม่ขุ่นเคืองด้วยโทสะ ไม่มีความไม่รู้  ขณะนั้น ความดีเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม ความดี หรือ กุศล  หรือบุญ นั้น ควรค่าแก่การชื่นชม เมื่อได้ทราบว่าคนนั้นคนนี้ได้เจริญกุศล ได้ทำความดี เราก็ควรชื่นชมในกุศลของเขา และไม่จำกัดด้วยว่า เขาจะบอกเราหรือไม่บอกเราก็ตาม เช่น เพียงอ่านเจอข่าวคนเก็บเงินได้แล้วคืนให้เจ้าของ เราก็ชื่นชมอนุโมทนา ขณะนั้นจิตผ่องใสในกุศลที่ชื่นชม ความดีเกิดขึ้นเป็นไปแล้วในขณะนั้น

การอนุโมทนาในความดีของผู้อื่น เป็นบุญประการหนึ่ง ที่เรียกว่าปัตตานุโมทนา คือ การพลอยชื่นชมยินดีในความดีที่ผู้อื่นได้กระทำ จะเห็นได้ว่า ปัตตานุโมทนา เป็นสิ่งที่จะพิสูจน์หิริโอตตัปปะในจิตใจของแต่ละท่าน เพราะเหตุว่าเมื่อทราบว่าบุคคลอื่นทำกุศล ควรที่จะอนุโมทนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ยากเลย เพราะท่านไม่ได้เหนื่อยที่จะต้องกระทำด้วย แต่ว่ากุศลนั้นก็ได้สำเร็จไปแล้วด้วยการกระทำของคนอื่น  เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้อนุโมทนาในกุศลของบุคคลนั้นจริงๆ แต่ถ้าขณะใดไม่อนุโมทนา กล่าวได้ว่าหิริโอตตัปปะไม่เกิดแน่นอนในขณะนั้น ขณะนั้นควรที่จะได้พิจารณาว่า เพราะอะไรจึงไม่อนุโมทนา ซึ่งน่าที่จะเห็นได้ชัดเจน ถ้าไม่เป็นผู้ที่เข้าข้างตัวเอง และถ้าเป็นผู้ที่ตรงก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้น อะไรเป็นเหตุให้ไม่อนุโมทนา ย่อมไม่พ้นไปจากอวิชชา (ความไม่รู้) อหิริกะ (ความไม่ละอายต่ออกุศลธรรม) อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวอกุศลธรรม) เป็นเหตุให้อกุศลอื่น เช่น ริษยา หรือความไม่พอใจ เป็นต้นเกิดร่วมด้วย หรือบางครั้งก็เป็นเพราะความสำคัญตน ก็ได้ จึงไม่อนุโมทนาในความดีของผู้อื่น ทันทีที่ไม่อนุโมทนา ควรจะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่าเป็นอกุศล เพราะแม้อกุศลที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่มีจริง  เป็นอารมณ์ของสติปัญญาได้ ทำให้ขณะนั้นสามารถเห็นสภาพของอกุศลธรรมซึ่งกำลังปรากฏตามความเป็นจริงได

ใครที่ไม่เคยเห็นอกุศล ก็คงจะบอกว่าเห็นยาก ทางตาในขณะนี้ อกุศลเกิดได้อย่างไร ทางหูในขณะนี้ อกุศลเกิดได้อย่างไร เป็นต้น แต่พอใครทำกุศลแล้วไม่อนุโมทนา เป็นเวลาที่จะเห็นอกุศลได้ชัดเจนทีเดียวว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลธรรม ซึ่งเกิดกับตัวท่านที่จะให้สังเกตให้รู้ชัดได้ทีเดียวว่าในขณะนั้นไม่สามารถที่จะอนุโมทนาได้

การอนุโมทนาบางครั้งก็เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขา (ความรู้สึกเฉยๆ) และบางครั้งก็เป็นกุศลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัส แล้วแต่กาละแล้วแต่เหตุการณ์ ถ้าเป็นกุศลที่กระทำได้ยาก และมีบุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำ ก็เป็นปัจจัยพอที่จะให้จิตของท่านเกิดอนุโมทนายินดีด้วย ด้วยความรู้สึกโสมนัสที่ท่านผู้นั้นสามารถที่จะกระทำกุศลที่กระทำได้ยาก แต่ถ้าเป็นกุศลทั่วๆไปเล็กๆน้อยๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุคคลที่ห่างไกล หรือเป็นบุคคลที่ห่างไกลก็ตาม แต่ถ้าเป็นกุศลซึ่งเกิดได้โดยไม่ยาก แล้วท่านก็เกิดกุศลจิตอนุโมทนา เช่น  เห็นบุคคลอื่นช่วยเหลือใครแม้เพียงเล็กน้อย ก็พอที่จะสังเกตลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ว่า ท่านยินดีด้วยในกุศลของคนนั้นด้วยจิตประเภทไหน ประกอบด้วยอุเบกขา หรือ โสมนัส ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย

สภาพธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย และสิ่งที่มีจริงนั้น ก็สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา  แม้ในขณะที่ชื่นชมยินดีในความดีของผู้อื่น ซึ่งเป็นบุญประการหนึ่ง ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน  การที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ นั้น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ค่อย ๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นก็จะปรุงแต่งเกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญยิ่งขึ้นในชีวิตประจำวัน.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ